Hfocus -เป็นอีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งเตรียมเดินหน้าวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอกฎหมายลูกและระเบียบต่าง ๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีความสนใจโครงการดังกล่าว โดยมีแนวคิดจะใช้กลไกการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ ในการลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ ในการสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและบางฝ่ายก็ยังท้วงติง ล่าสุดกระทรวงฯ จึงจะให้มีการหารือเรื่องนี้อีก โดยคาดว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
เรื่องนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยังต้องรอกฎหมายลูกก่อน ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษา
สำหรับความคิดเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นความร่วมมือในเรื่องใด หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลย่อมไม่เห็นด้วย เพราะอาจเกิดสองมาตรฐาน เนื่องจากอาจบอกคนไข้ว่า รักษาระดับนี้ไม่ดีพอ ต้องรักษาอีกระดับ ซึ่งอาจต้องมีการร่วมจ่ายเพิ่มหรือไม่ ตรงนี้ต้องชัดเจน แต่หากเป็นความร่วมมือในเรื่องการใช้ห้องผ่าตัด ห้องพิเศษ ก็ถือว่าดี แต่เรื่องนี้ควรมีรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนจะออกเป็นแนวทางปฏิบัติด้วย
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ตั้งคำถามว่า การทำลักษณะนี้ต้องถามว่า รัฐบาลขาดเงินด้านสาธารณสุขจริงหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการกู้เงินไปให้ด้านต่างๆ แต่ก็เกิดคำถามว่า แล้วงบสาธารณสุขทำไมไม่มีการพัฒนาตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตาม หากขาดงบประมาณในการลงทุนด้านนี้จริงๆ ก็ต้องมาพิจารณาว่าการร่วมทุนกับภาคเอกชนแบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะหากเป็นการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เป็นการสร้างตึกพิเศษ โดยใช้พื้นที่รัฐ และทำสัญญาข้อตกลงที่เป็นธรรมร่วมกันก็ยังพอพิจารณาได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การร่วมทุนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการต่อรองราคา เพื่อกำหนดราคาในการทำร่วมกันด้วย เพื่อความเป็นธรรม และป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดชาวบ้าน
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นว่า ต้องพิจารณาเป็นกรณี อย่างหากโรงพยาบาลเอกชนมีทรัพยากรเหลือก็มีโอกาสขอเช่า หรือทำกิจการร่วมกันได้ในราคาถูก แต่หากตั้งเป้าว่าจะลดต้นทุนของโรงพยาบาลรัฐอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากอาจมีข้อจำกัด เพราะความร่วมมือในบางกรณีอาจต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา เช่น เอกชนมีห้องว่าง แต่บางช่วงอาจไม่มีก็ลำบาก ยิ่งมีนโยบายเมดิคัล ฮับ หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ อาจทำให้กำลังซื้อของผู้รับบริการสูง ทางเอกชนก็จะมีทางเลือกอาจไม่สนใจร่วมทุนก็เป็นได้
“โดยหลักการการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ต้องไม่ส่งผลต่อการบริการประชาชน หากได้รับสิทธิที่ดีขึ้น การบริการที่ดีก็ไม่น่ามีปัญหา การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนก็จะไม่น่ากังวล ยกตัวอย่าง เมื่ออดีตจุดเริ่มโครงการสิทธิประกันสังคม เคยมีคนเสนอให้สร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตนเอง แต่โชคดีที่ไม่ทำ โดยหันมาร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะหากทำเป็นโรงพยาบาลประกันสังคมโดยเฉพาะ อาจมีปัญหาในแง่จำนวนไม่เพียงพอกับคนไข้” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะจะช่วยให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้ เนื่องจากรัฐไม่มีงบในการลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกทางเลือก เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งประสบภาวะขาดทุนมาตลอด ซึ่งก็ต้องพึ่งตนเอง ทั้งในแง่เงินบริจาค บางแห่งก็เปิดให้เอกชนมาทำโซนร้านอาหาร โดยเช่าที่โรงพยาบาลเป็นรายปี และทำสัญญาร่วมกันเป็น 10-25 ปีต้องเป็นของโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้ก็น่าจะดี มีประโยชน์
“ความร่วมมือที่เห็นได้ชัด คือ อย่างการใช้เครื่องตรวจด้วยรังสีเอ็กซเรย์ หรือเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งมีราคาแพงมากกว่า 20 ล้านบาท การใช้ในผู้ป่วยไม่กี่รายอาจไม่คุ้มทุน หรือการร่วมกันในเรื่องห้องพิเศษ เป็นสิทธิผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลรัฐ และต้องการเพิ่มตรงนี้ก็เป็นสิทธิ โดยอาจได้อัตราในราคาที่ถูกกว่าทั่วไป ซึ่งกรณีเหล่านี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ห้ามบังคับ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แน่นอนว่า จะต้องมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ระบุว่าเอื้อเอกชนแน่นอน จึงอยากให้เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ และคิดถึงภาพรวมของประเทศชาติ และผลประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้รับดีกว่า” พญ.ประชุมพร กล่าว
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คงต้องรอการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะออกมาเป็นแบบใด ซึ่งอาจจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่โดยหลักการแล้ว การทำ PPP จะแยกเป็นความร่วมมือในแง่การบริการห้องผู้ป่วย การบริการในแง่ขายเครื่องมือแพทย์ หรือการลงทุนกายภาพ โครงสร้างต่างๆ อย่างโรงพยาบาลรัฐมีที่ดิน 20 ไร่ แต่ใช้ได้จริง 10 ไร่ ที่ดินส่วนที่เหลือไม่มีงบลงทุนพัฒนาก็อาจให้ภาคเอกชนมาเช่า และค่อยมาตกลงว่า 20 ปีค่อยเป็นของรัฐ ซึ่งก็อยู่ที่ข้อตกลง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องรอภาครัฐก่อน
- 10 views