จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และผลกระทบจากภัยธรรมชาติหรือภัยจากการกระทำของมนุษย์ รวมไปถึงกระแสบริโภคนิยม ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นเหตุให้ภาวะสุขภาพของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางร่างกาย จิตใจ สะท้อนออกมาให้เห็นในรูปแบบของปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง
"โรคทางจิตเวช" นับเป็นโรคที่มีปริมาณผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย โดยในประชาชนทั่วไปมีความชุกของโรคจิตเวช ประมาณร้อยละ 15 และในเด็กพบว่ามีปัญหาโรคทางจิตเวชไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต สารเสพติด และปัญหาโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดความสูญเสีย ด้านความสามารถของผู้ป่วย รวมทั้งการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน
จากปัญหาความรุนแรงจากอาการของโรค แม้ว่าโรคทางจิตเวชเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 90 สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้ หรืออย่างน้อยอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการได้รับการรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากสภาพของผู้ป่วย ความไม่เข้าใจของผู้ดูแล รวมทั้งระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในสถานบริการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีพื้นที่การดูแลครอบคลุมและทั่วถึง ให้การดูแลที่ยังไม่มีมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ สูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ อีกหนึ่งการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของ สธ.ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จึงอยู่ที่การพัฒนาความสามารถในการบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานในสาขาสุขภาพจิตและจิตเวช พื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 พิษณุโลก ที่กำลังเริ่มต้นในขณะนี้ นับเป็นอีกตัวอย่างของก้าวย่างแห่งความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 พิษณุโลก ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก และเพชรบูรณ์ ได้กำหนดทิศทางของแผนพัฒนาระบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ปี 2557-2560 ไว้โดยมีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่จะเป็นเขตบริการสุขภาพจิตและจิตเวชที่ได้มาตรฐาน ครอบคลุมและครบวงจร ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทุกระดับ (รพศ.,รพท.,รพช.และรพ.สต.) โดยมีการให้บริการครบทุกมิติ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ในจังหวัดพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 ภายใน 5 ปี
ในการพัฒนาจะมุ่งเน้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลากร, ด้านสถานบริการ และขีดความสามารถของระบบบริการทั้งการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษา, การส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิต, ระบบยา, การส่งต่อ และการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ในด้านบุคลากร จะเพิ่มศักยภาพและความรู้แก่บุคลากรสหวิชาชีพในงานสุขภาพจิตและจิตเวชทุกระดับ ผ่านโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชให้ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ และโครงการพัฒนาขีดความสามารถของระบบบริการสาธารณสุข
ด้านสถานบริการ พื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 ได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ เช่น 1) การขยายเตียงบริการผู้ป่วยใน โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ขยายบริการเป็น 30 เตียง, โรงพยาบาลแม่สอด ขยายบริการเป็น 20 เตียง 2) การเปิดหอผู้ป่วยจิตเวช 20 เตียง ในโรงพยาบาลพุทธชินราช, โรงพยาบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย, โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์, โรงพยาบาลตากสินมหาราช จ.ตาก, โรงพยาบาลศรีสังวร จ.สุโขทัย 3) การพัฒนาสถานที่ รพช. เพื่อพัฒนา Psychosocial Clinic, Well Baby Clinic คุณภาพ และ 4) การสร้างโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก โดยกรมสุขภาพจิต เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในด้านบริการประชาชน พื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 ได้ พยายามพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีมาตรฐานและเป็นแนวทางเดียวกันในเขตบริการที่ 2 ภายใน ปี 2556 ทั้งนี้ ได้สร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารและระบบให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาระบบส่งต่อที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชน และเพิ่มช่องทางในการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช นอกจากการส่งต่อในเขตพื้นที่แล้ว ยังมีโครงการพัฒนาระบบส่งต่อและระบบให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพในการจัดระบบส่งต่อทั้งภายในจังหวัดและภายในเขต รวมถึงการให้คำปรึกษา Area Consultant และ Area Matching Hospital พร้อมทั้งจัดทำทำเนียบจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช อีกด้วย
สิ่งสำคัญไม่เฉพาะการบริการในสถานพยาบาลเท่านั้น เพราะพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 ได้ทำงานเชิงรุก โดยพยายามพัฒนาศักยภาพประชาชนและชุมชนด้าน Self-care และ self-management ในการดูแลด้านสุขภาพจิตของตนเองและผู้ป่วยโรคจิตในชุมชน (Patient & Care Giver) ผ่านโครงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและฟื้นฟูสภาพ ด้านสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เพื่อส่งเสริมบทบาทของประชาชน ชุมชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพ ให้มีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และสามารถการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน
จากความพยายามในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาสุขภาพจิตและจิตเวช ของพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 พิษณุโลก ทำให้ในปัจจุบันได้ผลที่น่าพอใจ เพราะพบว่า มีอัตราการเข้าถึงบริการโรคจิตเวชในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นเป็น ร้อยละ 79.51, โรคซึมเศร้า ร้อยละ 35.28, แต่ยังมีปัญหาในกลุ่มโรคจิตเวชเด็กการเข้าถึงโรคปัญญาอ่อน ร้อยละ 4.59, โรคออทิสติก ร้อยละ 15.01 รวมทั้งโรคซนและสมาธิสั้นอัตราการเข้าถึงต่ำ ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดความสูญเสีย ด้านความสามารถของผู้ป่วย รวมทั้งการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน จากปัญหาความรุนแรงจากอาการของโรค
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอีกมาก ทั้งด้านบุคลากร ระบบยาทางจิตเวช อาคารสถานที่ในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลจิตเวชที่เป็นเครือข่ายตรงของเขต 2 ทั้งนี้ ก็เพื่อพัฒนาระบบบริการ การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตและจิตเวช ให้ได้มาตรฐาน ครบวงจร พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน และเป็นแนวทางเดียวกันในเขตบริการ การพัฒนาศักยภาพประชาชนและชุมชนด้าน Self-care และ self-management ในการดูแลด้านสุขภาพจิตของตนเองและผู้ป่วยโรคจิตในชุมชน (Patient & Care Giver) และพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ของเครือข่ายบริการที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพ ภายใน ปี 2560
นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของไทยในด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่น่าจับตามอง
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 29 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 174 views