หลังจากเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย หรือ  "ทีแบน" ออกมาเคลื่อนไหว เพราะต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากการใช้แร่ใยหินแบบ 100% ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อมูลเชิงวิจัยทางการแพทย์ จากองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยืนยันถึงพิษภัยจาก "แร่ใยหิน" ซึ่งเป็นส่วนผสมของวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง และสินค้าในภาคอุตสาหกรรมหลายชนิด เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ !! จนทำให้กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ล้วน "ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน" ไปแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายภาคประชาชนได้รณรงค์ผ่านภาครัฐ โดยยึดแนวทางการปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีในปี 2554 ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาแผนการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินในปี 2555 โดยเครือข่ายภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินได้ติดตามทวงถามความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับ "ยุทธศาสตร์" การขับเคลื่อนโดยใช้จิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในครั้งนี้ "สมบุญ สีคำดอกแค" แกนนำเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย หรือ ทีแบน เปิดเผยต่อ "คม ชัด ลึก" ว่า จากการรอผลการพิจารณาโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะให้มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2554 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ในปัจจุบัน) ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินดำเนินการศึกษาผลกระทบของแร่ดังกล่าว และส่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทางเครือข่ายและองค์กรภาควิชาการได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุป กลับได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก เนื่องจากที่ประชุมอ้างว่าผลที่ออกมามีแต่เพียงข้อมูลจากทางต่างประเทศ ไม่มีข้อมูลในประเทศและอาจจะมีผลกระทบในส่วนของแรงงาน แต่ชุมชนไม่กระทบ

"จากการเก็บข้อมูลในต่างประเทศพบว่า มีการปรับปรุงก่อสร้างโรงเรียน และมีการ

ใช้กระเบื้องที่มีแร่ใยหินทุบโรยทิ้งไว้ มีผลทำให้นักเรียนเป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วในต่างประเทศว่าประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน แต่ภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหิน ดังนั้นทางเครือข่ายจึงเตรียมหายุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ให้ช่วยสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการปกป้องประชาชนจากพิษภัยของแร่ใยหิน โดยเน้นทำธุรกิจแบบธรรมาภิบาลในภาคเอกชน และเน้นการพึ่งพากระบวนการทางกฎหมายสำหรับหน่วยงานในภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวในภาพใหญ่คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการในการยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินในประเทศไทย"แกนนำเครือข่าย ทีแบน กล่าว

 สมบุญ กล่าวต่อว่า เครือข่ายจะเน้นขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ, หอการค้าไทย รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้สมาชิกตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม ยกเว้นการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบของทุกๆ สัญญาจ้าง (ทีโออาร์) เช่นเดียวกับหน่วยงานในภาครัฐ ที่ทุกๆ โครงการในสัญญาจ้างจะต้องปลอดจากวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม

"ทีแบน ยังเตรียมมาตรการทางด้านกฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมอย่าง ศาลปกครอง โดยอาจจะมีรูปแบบของการฟ้องร้องให้มีการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับโครงการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ในกรณีของโครงการภาครัฐที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม" แกนนำเครือข่ายทีแบน กล่าว  ขณะที่ "การเคหะแห่งชาติ" เป็นอีก หน่วยงานในภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด "บุญจิตร โล่ห์วงศ์วัฒน" ผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการก่อสร้าง เปิดเผยต่อ  "คม ชัด ลึก" ว่า "เรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในส่วนของการเคหะแห่งชาตินั้น นโยบายของการเคหะฯ จะเน้นไม่เลือกวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินอยู่แล้วในเบื้องต้น ซึ่งได้ดำเนินการมานานแล้ว และในอนาคตมีความเป็นได้สูงที่จะทยอยยกเลิก และเป็นไปได้เช่นกันที่จะมีการยกเลิกในทุกๆ สัญญาจ้างของการเคหะฯ"

จับตา "ทีแบน" และ "เครือข่ายภาคประชาชน" จะสามารถฝ่ายด่าน "ผลประโยชน์มหาศาลทางธุรกิจ" ได้หรือไม่ โดยมีสุขภาวะทางสุขภาพของคนไทย ที่เสี่ยงกับโรคมะเร็งอันมีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน เป็นเดิมพัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 23 สิงหาคม 2556