ทรานสปอร์ต เจอร์นัล - เครือข่ายแร่ใยหินรุกคืบรณรงค์ให้ภาคเอกชนใช้จิตสำนึกสังคมหยุด "แร่ใยหิน" เผยสิ้นหวังรอรัฐบังคับใช้กฎหมาย หารือ คปก. เปิดช่องทางใช้ กม. คุ้มครองผู้บริโภค ลุยยื่นฟ้องศาลปกครองระงับโครงการรัฐ ที่ฝ่าฝืนมติครม. ปี 54
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในส่วนของภาคประชาชนกับการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดมะเร็งในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค ว่า ล่าสุดกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการยกเลิกแร่ใยหิน เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ถูกภาครัฐนำมาบังคับใช้เท่าที่ควร แม้ว่าในปัจจุบันมีการรณรงค์ที่กว้างขวางมาก และนำไปสู่องค์ความรู้ และข้อมูลที่เกิดจากการวิจัยก็ตาม
ในปัจจุบันพบว่าแนวโน้มของผู้ป่วยกำลังจะมีจำนวนเติบโตขึ้นมากอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกอบอาชีพ และกลุ่มผู้บริโภคที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง
โดยที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของทีแบนและสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีมติไปถึงรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ กลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยเฉพาะในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างในแต่ละทีโออาร์ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะอนามัยของประชาชน
"ขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นการขับเคลื่อนใน2 มิติ คือทั้งในส่วนของกระบวนการยุติธรรม และในส่วนของการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันถึงสุขภาวะอนามัยของผู้ประกอบอาชีพและผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่จะให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและหันกลับมาเดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย" รอง ปธ.คปก. กล่าว
นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน) เปิดเผยภายหลังหารือกับ รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับข้อสรุปของกระทรวงในนำเสนอ ครม. เพื่อยกเลิกแร่ใยหินว่า ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าและยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางเครือข่ายเตรียมที่จะเคลื่อนไหวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าในเรื่องนี้พร้อมๆ กับเร่งการรณรงค์ให้ภาคเอกชนร่วมมือกันยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพื่อให้ภาครัฐหันมาตระหนักและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้
มีแนวโน้มความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่พิษภัยจากแร่ใยหินซึ่งแต่เดิมจะส่งผลกระทบเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ก่อสร้าง หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จะลุกลามเข้าสู่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในครัวเรือน และแนวโน้มของตัวเลขผู้ป่วยจากงานวิจัยมีผลให้ทางทีแบนต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้แร่ใยหินในมิติใหม่ ซึ่งต้องการให้มีการยกเลิกการใช้วัสดุที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินในทุกๆ โครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านมาตรการทางด้านสังคมและกฎหมาย ให้กลายเป็นสำนึกแห่งความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของภาคสังคม
โดยจะมีการใช้แนวทางจากจุดเริ่มต้นในการขอความร่วมมือและใช้หลักธรรมาภิบาลในการเข้ามาเคลื่อนไหวในหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งจะมีการประสานไปยังองค์กรภาคเอกชนสำคัญๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสร้างแนวทางการยกเลิกแร่ใยหิน ที่ชัดเจนแล้วว่ามีผลก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ จะเน้นไปที่การขอความร่วมมือ และอาจมีการใช้อำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรม ฟ้องร้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราว โดยการระงับโครงการการจัดซื้อจัดจ้างที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นการจงใจขัดมติ ครม. ในปี 54 โดยตรง
ที่มา--ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 20 - 26 ม.ค. 2557--
- 2 views