แนวหน้า - เอ็นจีโอเดินหน้ายกเลิก‘แร่ใยหิน’คปก.ชี้ช่องใช้กม.ร้องศาลปกครอง
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในส่วนของภาคประชาชนเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดมะเร็งว่า เป็นที่น่าเสียดายที่กฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการยกเลิกแร่ใยหินไม่ถูกภาครัฐนำมาบังคับใช้เท่าที่ควร
แม้ว่าในขณะนี้มีการรณรงค์ที่กว้างขวางมาก และนำไปสู่องค์ความรู้และข้อมูลที่เกิดจากการวิจัยก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันพบว่าแนวโน้มของผู้ป่วยกำลังจะมีจำนวนเติบโตขึ้นมากอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกอบอาชีพ และกลุ่มผู้บริโภคที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง
นางสุนี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(ทีแบน) และ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีมติไปถึงรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อให้กฏหมายมีผลบังคับใช้ กลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยเฉพาะในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างในแต่ละทีโออาร์ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องของสิทธิในส่วนของประชาชนที่สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ โดยมีกฏหมายกองทุนเงินทดแทน และกฏหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นการขับเคลื่อนในสองมิติ คือทั้งในส่วนของกระบวนการยุติธรรม และในส่วนของการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันต่อสุขภาวะอนามัยของผู้ประกอบอาชีพและผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่จะให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญ และหันกลับมาเดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย
ด้าน นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังหารือกับ รมว.สาธาณสุขเกี่ยวกับข้อสรุปในการนำเสนอ ครม.เพื่อยกเลิกแร่ใยหินว่า ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าและผลสรุปที่ชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข ทางเครือข่ายจึงเตรียมที่จะเคลื่อนไหวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อทวงถามความคืบหน้า พร้อมกับเร่งการรณรงค์ให้ภาคเอกชนร่วมมือกันยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพื่อให้ภาครัฐหันมาตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้
“มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่พิษภัยจากแร่ใยหิน ซึ่งแต่เดิมจะส่งผลกระทบเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพก่อสร้าง หรือเกี่ยวข้องกับวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง กำลังลุกลามเข้าสู่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในครัวเรือน และแนวโน้มของตัวเลขผู้ป่วยจากงานวิจัยมีผลให้ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้แร่ใยหินในมิติใหม่ ซึ่งต้องการให้ยกเลิกการใช้วัสดุที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินในทุกๆ โครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านมาตรการทางด้านสังคมและกฏหมาย ให้กลายเป็นสำนึกแห่งความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของภาคสังคม” นางสมบุญ กล่าว
นางสมบุญ กล่าวว่า จะมีการใช้แนวทางในการขอความร่วมมือ และใช้หลักธรรมาภิบาลในการเข้ามาเคลื่อนไหวในหน่วยงานภาคเอกชน โดยประสานไปยังองค์กรภาคเอกชนสำคัญๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสร้างแนวทางยกเลิกแร่ใยหิน ส่วนในหน่วยงานภาครัฐ จะเน้นการขอความร่วมมือ และอาจมีการใช้อำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรม ฟ้องร้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราว โดยการระงับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นการจงใจขัดมติ ครม.ในปี 2554
ที่มา: http://www.naewna.com
- 3 views