อิสานจัดแลกเวทีเปลี่ยนเรียนรู้ “การพัฒนาบริการเครือข่ายอิสานไร้รอยต่อ” เน้นพัฒนาระบบส่งต่อ – รับกลับ ผู้ป่วย 6 กลุ่มโรคร้ายแรง หวังลดอัตราตาย เพิ่มการเข้าถึงบริการ
วันที่ 20 -21 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่นราชาออร์คิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 4 เขตภาคอีสาน (สปสช. เขต 7 ขอนแก่น, สปสช. เขต 8 อุดรธานี , สปสช. เขต 9 นครราชสีมา , สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี) ร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการ “การพัฒนาบริการเครือข่ายอีสานไร้รอยต่อ” ซึ่งในงานประกอบด้วยนิทรรศการผลงานดีเด่นจากเครือข่ายบริการ และการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในการทำงานสร้างเครือข่าย
รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระหว่างเครือข่ายและระดับเขต การส่งเสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วยแต่ละเครือข่าย ตามความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเครือข่ายบริการที่สำคัญที่นำเสนอได้แก่ เครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด ST elevated (STEMI) เครือข่ายโรคมะเร็ง (Cancer) เครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน(Stroke) เครือข่ายบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย (New born) เครือข่ายจิตเวช (Psychosis) และเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่านโยบายการสนับสนุนของ สปสช. ในการสร้างเครือข่ายโรคที่มีอัตราตายสูงและกลุ่มโรคที่มีปัญหาในพื้นที่นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่าน สปสช.เขต เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายบริการทั้งการส่งต่อ และส่งกลับที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก 4 เครือข่ายสำคัญ ได้แก่ เครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด เครือข่ายโรคมะเร็ง เครือข่ายโรคหลอดเลือดสมอง และเครือข่ายบริการทารกแรกเกิด ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 มีการขยายการพัฒนาเครือข่ายที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ เครือข่ายบริการบาดเจ็บที่ศีรษะ เครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง เครือข่ายบริการจิตเวช
การสนับสนุนนั้นมีทั้งการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการ พัฒนามาตรฐานหน่วยบริการ และการกำกับติดตาม รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณในการรักษาพยาบาลตามระบบปกติ และตามข้อกำหนด เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัดหัวใจ การใส่สายสวนหัวใจ ทารกแรกเกิด จิตเวช เป็นต้น และยังมีการสนับสนุนงบประมาณชดเชยเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ เป็นไปตามตามมาตรฐานการรักษา อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมากขึ้น และอัตราการตายน้อยลง เช่น
1.อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มีมีอัตรา 27.67 % เป็น 61.68% ในปีงบประมาณ 2556 (ช่วงตุลาคม 2555 – กุมภาพันธ์ 2556)
2. ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในโรงพยาบาลในจังหวัด เพิ่มขึ้นจาก ปี 2553 54.10% เป็น 61.32% ในปีงบประมาณ 2556
3. อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จาก 0.18% ในปี 2552 เพิ่มเป็น 2.67% ในปีงบประมาณ 2556
4. ลดอัตราการตายของเด็กแรกคลอดที่มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,500 – 2,499 กรัม (เสียชีวิตภายใน 28 วัน) จากเดิม 1.11% ปี 2554 เป็น 1.02% ในปีงบประมาณ 2556
5. เพิ่มการเข้าถึงยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการที่บ้าน ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมปี 2555 จำนวน 5,305 คน ในขณะที่ปีงบประมาณ 2556 ช่วงครึ่งปีแรก มีผู้ได้รับแล้วจำนวน 4,846 คน
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศก์ เครือข่ายบริการที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการพัฒนาบริการเครือข่ายอีสานไร้รอยต่อ สอดคล้องกับนโยบายการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ซึ่งเป็นนโยบายที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนทั่วทั้งประเทศ โดยนำแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันภายในเขตสุขภาพ โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเขตสุขภาพ ทั้งในด้าน ความรู้ ทักษะ ด้านบุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงระบบการส่งต่อแบบเป็นพี่น้องกัน เพื่อรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีศักยภาพที่สูงกว่าโดยบริการเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สปสช. สธ. และหน่วยงานวิชาการ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย รวดเร็ว ลดเวลารอคอยการรักษา มีความอบอุ่นใจ ใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาในที่ห่างไกล และได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งมีความเชื่อมั่นกับบริการการรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้
- 20 views