สปสช.จับมือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยพัฒนา 4 จว.ต้นแบบการแพทย์แผนไทย เชียงราย สกลนคร มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี หลังผลสำเร็จจัดงบส่งเสริมแพทย์แผนไทย กระตุ้นรพ.ให้บริการผู้ป่วยด้วยแพทย์แผนไทย และยาสมุนไพรได้มมากขึ้น ตั้งเป้าดึงชุมชนมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาเป็นจังหวัดต้นแบบแพทย์แผนไทย
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นให้ความสำคัญการส่งเสริมบริการแพทย์แผนไทย โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติให้จัดสรรงบบริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกแยกออกมาจากงบรายหัวตั้งแต่ปี 2550 เพื่อใช้เป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มจากการให้บริการนวดไทย ประคบ อบสมุนไพร ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นให้สถานพยาบาลบริการแพทย์แผนำทยมากขึ้น และเพื่อให้การสร้างสุขภาวะที่ดีของชุมชนเกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง สปสช.ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จึงได้จัดทำโครงการจังหวัดต้นแบบแพทย์แผนไทยขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการ โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้เป็นจังหวัดต้นแบบพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทยแบบเบ็ดเสร็จ ในด้านการบริหารจัดการ การบริการ การพัฒนาระบบข้อมูล และการส่งเสริมเชื่อมโยงกับเครือข่ายและการพัฒนาวิชาการ
รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ได้คัดเลือกจังหวัดที่มีผลงานการให้บริการดีเด่น 4 จังหวัด คือ เชียงราย สกลนคร มหาสารคาม และสุราษฎร์ธานี มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท กรอบการพัฒนา เริ่มตั้งแต่โครงการสร้างการบริหารงานระดับจังหวัด บุคลากรแพทย์แผนไทย และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระบบยาสมุนไพรครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ผลิต การใช้และการติดตามผลการใช้ การจัดระบบบริการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่การจัดทำระบบฐานข้อมูล การเชื่อมโยงแพทย์แผนไทยกับระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบการดูแลเครือข่าย การพัฒนาคุณภาพบริการ การเชื่อมโยงกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรปกครอส่วนท้องถิ่น สสส. และวัดที่มีบริการแพทย์แผนไทย รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน
นพ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานพยาบาลเห็นความสำคัญและสนใจที่จะเปิดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้เชียงราย เปิดให้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้ว 166 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71 จากจำนวนสถานบริการ 233 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ชุมชนทุกอำเภอ 17 แห่ง และ รพ.สต. 149 แห่ง ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 3 ที่กำหนดให้ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมและเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
- 7 views