ปารีส * นักวิจัยนานาชาติตีพิมพ์ผลการศึกษา คาด "อูฐอาหรับ" เป็นหนึ่งในพาหะของเชื้อไวรัสเมอร์ส ชี้ผู้ติดเชื้อเคยมีประวัติสัมผัสอูฐหรือแพะ
ในวันศุกร์ 10 สิงหาคม 2556 คณะนักวิจัยนานาชาติตีพิมพ์ผลการศึกษาลงวารสาร The Lancet Infectious Diseases ซึ่งชี้ว่า อูฐอาหรับ หรืออูฐหนอกเดียว อาจเป็นหนึ่งในพาหะนำเชื้อไวรัสเมอร์ส ซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงคล้ายไวรัสซาร์ส อันทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 46 รายตั้งแต่เดือนกันยายน
ในการศึกษาดังกล่าว ผู้วิจัยเก็บตัวอย่างเลือดจากอูฐ 50 ตัวทั่วประเทศโอมาน และอีก 105 ตัวจากหมู่เกาะคาเนรี รวมไปถึง สัตว์อื่นๆ อย่างลามะ อัลปากา อูฐสองหนอก โคกระบือ แพะ และแกะจากเนเธอร์แลนด์ ชิลี และสเปน ซึ่งพวกเขาพบแอนติบอดีของไวรัสเมอร์สในอูฐจากโอมานทั้งหมด รวมถึงอูฐ 15 ตัวจากคาเนรีในระดับที่ต่ำกว่า
ผู้เขียนงานวิจัย มาเรียน คูปมันส์ จากสถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนเธอร์ แลนด์ระบุว่า "สิ่งนี้หมายความว่า อูฐเหล่านี้เคยได้รับเชื้อไวรัสซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงไวรัสเมอร์ส มากมาก่อน" และเมื่อดูจากผลการศึกษา ผลเลือดอูฐโอมานนั้นมาจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งชี้ว่า ไวรัสเมอร์สหรือไวรัสที่ใกล้เคียงกัน แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในอูฐหนอกเดียวภายในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยก็ ยังไม่อาจตอบได้ว่า อูฐติดเชื้อตั้งแต่เมื่อไร และมันคือเชื้อตัวเดียวกับไวรัสเมอร์สหรือไม่ คูปมันส์กล่าวว่า "เพื่อหาคำตอบ เราจำเป็นต้องศึกษาด้วยการเก็บตัว อย่างจากอูฐขณะที่มันยังติดเชื้ออยู่" นอกจากนี้ สัตว์อื่นๆ ในตะวันออกกลาง เช่น แพะ จำเป็นต้องได้รับการทดสอบเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ มีข้อสงสัยว่า พาหะของเชื้อโรคอาจเป็นค้างคาว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มน้อยมากที่ค้างคาวจะนำเชื้อไวรัสมาติดต่อในมนุษย์ได้ และเกร็ดประวัติของบรรดาผู้ติดเชื้อยังเผยว่า พวกเขาเคยติดต่อสัมผัสกับอูฐหรือแพะมาก่อน
คูปมันส์เผยว่า การค้นพบ ครั้งนี้ยังไม่อาจแก้ปริศนาได้ แต่ก็มีความสำคัญที่จะกำหนดขอบเขตการวิจัยในอนาคต ด้านนักจุลชีว วิทยาจากมหาวิทยาลัยรีดดิง กล่าวว่า ในขั้นต่อไปของการวิจัย อาจเป็นการหาเชื้อไวรัสในตัวอูฐ และดูว่าเชื้อกลายพันธุ์ให้ติดเชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 สิงหาคม 2556
- 46 views