นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : ในช่วงที่โรคระบาดกำลังคุกคามหลายภูมิภาคของโลก ทั้งเชื้อไวรัสอีโบลาในแถบประเทศแอฟริกาตะวันตก การระบาดของโรคซิกาในอเมริกาใต้และแคริบเบียน ตลอดจนเชื้อไวรัสเมอร์สที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศไทยในเวลานี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ความช่วยเหลือในระดับโลกเข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาด และดูแลสังคมโลกให้ปลอดจากเชื้ออันตราย
อุตสาหกรรมยา เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด โดยการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษาโรคระบาดร้ายแรง มักก้าวตามหลังการระบาดของโลกอยู่อย่างน้อย 1 ก้าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อยื้อชีวิต จนกว่าจะมียารักษาโรคออกมา
ข้อมูลจาก องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ระบุว่า ประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน โดยในแถบแอฟริกาและเอเชียที่ยากจน ผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้คิดเป็นเกือบครึ่งของประชากรในประเทศ นอกจากนี้ หลายครั้งที่ยายังมีราคาแพงเกินไป และบางชนิดเลิกผลิตไปแล้ว ทำให้ยาที่ต้องใช้ในการบรรเทาอาการโรค เป็นยาอันตรายและไม่ได้ผล
กรณีของการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยตั้งแต่การระบาดรอบแรกปี 2519 ที่ประเทศซาอีร์ (ชื่อปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสดังกล่าวยังไม่มียารักษาโดยตรง จนมาถึงการระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 2556-2558 เชื้อไวรัสอีโบลาได้แพร่กระจายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย มีผู้ติดเชื้อกว่า 28,638 คน และเสียชีวิตกว่า 11,315 ราย
รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคอีโบลาในคน ซึ่งมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จอยู่ 2 ตัว ได้แก่ วัคซีน ChAd3-ZEBOV ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น ร่วมกับสถาบันศึกษาโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐ (NIAID) และวัคซีน VSV-EBOV ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทนิวลิงก์ เจเนติกส์ เมิร์ก วัคซีนส์ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติแคนาดา
ขณะที่บริษัทยารายใหญ่อื่นๆ เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็จับมือกับบาวาเรียน นอร์ดิก เพื่อวิจัยวัคซีนต้านเชื้อไวรัสอีโบลาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า การวิจัยยังผูกขาดอยู่กับบริษัทยารายใหญ่ ที่ต้องใช้งบประมาณและกำลังคนเป็นจำนวนมากในการสร้างนวัตกรรมยา ซึ่งตรงนี้หมายถึงต้นทุนของยาที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มที่บริษัทยาเหล่านี้จะปกป้องสูตรยา อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตน
กรณีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลายังเป็นบทเรียนที่ตอกย้ำว่า การขาดยารักษาโรค รวมทั้งการเข้าไม่ถึงยา ได้ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า หากเป็นโรคระบาดที่มียารักษาอยู่แล้ว การส่งเสริมให้ยารักษาโรคขั้นพื้นฐานสามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนส่วนใหญ่ของโลก จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดได้
นอกจากนี้ ในการเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบริษัทยา มากกว่าที่ข้อบังคับทางการค้าระหว่างประเทศกำหนดไว้ จะยิ่งส่งผลให้ยา ขั้นพื้นฐานมีราคาแพงขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น ทุกฝ่ายรวมทั้งภาคเอกชน ควรให้การรับรองว่ายารักษาโรคที่จำเป็นจะสามารถเข้าถึงได้โดยประชาชน ในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการวิจัยและพัฒนายาในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 7 ก.พ. 2559
- 35 views