เหนือความคาดหมายพอสมควร กับการที่คณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ตัดสินใจแต่งตั้ง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้อำนวยการ สวรส. หลังกระบวนการสรรหายืดเยื้อยาวนานกว่า 4 เดือน
แม้จะรู้กันแต่แรกแล้วว่า อย่างไรก็ตาม ชื่อนพ.สมเกียรติ ก็ลอยมา เพราะมีความสนิทชิดเชื้อกับนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รมว.สาธารณสุข แต่การถูกลงโทษทางวินัยด้วยการตัดเงินเดือน 5% จากที่ทำงานเดิมอย่าง มศว ก็ถือว่าสาหัสเอาการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิชาการล้วนๆ อย่าง สวรส.
ก่อนหน้านี้ นพ.สมเกียรติ ไม่ใช่โนเนมจากไหนเพราะเขาคือหนึ่งในแคนดิเดตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. คนปัจจุบัน ในการสรรหา เมื่อปี2554 แต่ นพ.วินัย ลอยลำชนะเป็นเลขาธิการด้วยคะแนน 22 เสียง ส่วน นพ.สมเกียรติได้ 7 เสียง
ว่ากันว่า วันนั้น นพ.สมเกียรติ ยังไม่สามารถเคลียร์ตัวเองจากข้อครหา เรื่องคัดลอกวิทยานิพนธ์ได้ขณะที่ประวัติเก่าของ นพ.สมเกียรติ ก็เคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร เมื่อปี2549 ในที่สุดตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. จึงถูกเบรกไว้ก่อน
ถึงเวลากลับมาอีกครั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. เนื่องจากนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการคนเดิมหมดวาระพอดี กระบวนการสรรหาใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวว่า นพ.ประดิษฐต้องการรวบองค์กรอิสระตระกูล ส. ตามโครงสร้างใหม่ของ สธ. และท่ามกลางข่าวการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์แบบใหม่ ด้วยการจ่ายตามภาระงาน (P4P) จนเป็นสาเหตุให้เสียง "ประดิษฐออกไปๆ" ดังกระหึ่มสธ.อยู่พักใหญ่
กระทั่งเคลียร์ลงตัว ด้วยการเจรจา 3 ฝ่าย โดยมีสุรนันทน์ เวชชาชีวะเป็นตัวกลาง เสียงตะโกนไล่หมอประดิษฐก็เบาลง เพราะข้อเสนอยกเลิก P4P ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด ขณะที่แนวคิด "ปฏิรวบ ส." ก็เบาลงพร้อมกับความไว้วางในหมอประดิษฐมากขึ้น จนในที่สุดการปรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 5 ชื่อของนพ.ประดิษฐ ยังคงนั่งอยู่ที่เดิมเปลี่ยนก็แต่ รมช.สธ. จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้วเป็นสรวงศ์ เทียนทอง เท่านั้นชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ท่าทีของ นพ.ประดิษฐในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาดูนุ่มนวลขึ้นมาก กลายเป็นคนที่ขออะไรก็ให้อย่างนั้น ส่วนเรื่องใดที่เป็นข้อขัดแย้งก็บอกว่าเป็นแนวคิดของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ปลัด สธ. ทั้งหมด
ท่าทีนิ่งสงบก่อนหน้านี้ของ สธ. จึงเป็นเพียงการพักรบชั่วคราว จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การพักครั้งนี้ทำให้แนวรบของแพทย์ชนบทอ่อนแอไป และเกิดความขัดแย้งทางความคิดขึ้นว่า เมื่อนพ.ประดิษฐยอมทำตามเงื่อนไขยกเลิกP4P แล้ว ยังควรเดินหน้าขับไล่ นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งต่อหรือไม่ ขณะที่บางกลุ่มยืนยันว่ากระแสขับไล่จุดติดแล้วควรเดินหน้าที่จะไล่ นพ.ประดิษฐ ต่อไป
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และแกนนำชมรมแพทย์ชนบทวิเคราะห์ว่า การตัดสินใจเลือก นพ.สมเกียรติ สะท้อนชัดถึงแนวคิดในการปฏิรวบตระกูล ส. ยังคงค้างอยู่ในใจ นพ.ประดิษฐ และน่าเป็นห่วงว่า สวรส. ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นกลางทางการเมือง และมุ่งทำงานทางวิชาการเพียงอย่างเดียว จะต้องถูกเปลี่ยนเป็นองค์กรที่อยู่ในการควบคุมของนักการเมืองแทน
ขณะเดียวกันองค์กรอิสระในสังกัด สธ.อื่นๆอย่างสำนักงานหลักประกันฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้งบประมาณรวมกันในแต่ละปีกว่าแสนล้านบาท จะถูกครอบงำต่อไปด้วยในอนาคต ฉะนั้น แพทย์ชนบทอาจต้องปรับท่าที โดยอาจเคลื่อนไหวในเร็วๆนี้
ประเด็นขัดแย้งเดิมๆ ย้อนกลับมาที่ตัว นพ.ประดิษฐ อีกครั้ง โดยที่คู่ขัดแย้งอย่างแพทย์ชนบท ยังไม่ทันได้ตั้งรับ เป็นศึกรอบใหม่ใน สธ.ที่รอวันปะทุในเวลาอันใกล้นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2556
- 11 views