วิจัยประเมินนโยบาย “รับยาที่ร้านยา” สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน ‘รพ.วชิระภูเก็ต’ พบผลลัพธ์ช่วยลดแออัด ลดรอคิวนาน มีเภสัชร่วมติดตามใกล้ชิด เตรียมขยาย 17 กลุ่มโรคเข้าโครงการ
หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล แน่นอนว่านโยบายนั้นคือ "รับยาที่ร้านยา" ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาก ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนไข้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ โรงพยาบาลที่ลดความแออัดลงไปได้ และแน่นอนว่าร้านยาที่จะได้ประโยชน์จากการได้ใช้วิชาชีพในการดูแลคนไข้เพิ่มเติมมากกว่าการที่ถูกมองว่าเป็นธุรกิจค้าขายยาเพียงอย่างเดียว
ผลดีของนโยบายรับยาที่ร้านยา ถูกสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนผ่านการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ของ "คณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามผลการดำเนินการนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล" ภายใต้การดำเนินงานวิจัยโครงการ “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ซึ่งเป็นการเข้ามาช่วยติดตามการดำเนินงานตามนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา รวมทั้งการประเมินผลกระทบ และนำข้อมูลเสนอไปยังผู้มีส่วนตัดสินใจในเชิงนโยบาย เพื่อให้การรับยาที่ร้านยา ถูกผลักดันให้เป็นการดำเนินงานที่ยั่งยืน บนเป้าหมายประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้มีสิทธิ์ในบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประโยชน์สูงสุด
การเห็นภาพของ จ.ภูเก็ต ที่เป็นเมืองใหญ่ มีทั้งประชากรในพื้นที่ ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในเมืองท่องเที่ยวเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้ ผ่านโครงการรับยาที่ร้านยา จากการเข้าร่วมโครงการของร้านยา 44 แห่ง ในเครือข่ายของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รวมไปถึงการรายงานผลการดำเนินงานยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่าโครงการนี้ได้ผล
ภญ.ฉัตรลดา สุทธินวล เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวในการประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามผลการดำเนินการนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ครั้งที่ 3/2564 ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานกำกับติดตามโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้ติดตามการดำเนินการโครงการรับยาที่ร้านยาของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ว่า
โครงการรับยาที่ร้านยาของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หรือในชื่อว่า "รับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ" ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมทั้งหมด 44 ร้าน ซึ่งในช่วงแรกเริ่มนั้น ดำเนินการกันในลักษณะรูปแบบที่ 1 คือ โรงพยาบาลจัดยาแล้วนำไปส่งที่ร้านยา เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย กระทั่งล่าสุดในปีงบประมาณ 2564 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ร่วมกับร้านยาแผนปัจจุบันในพื้นที่นำร่องในรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาบริหารจัดการด้านยาเอง จัดและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ แล้วเบิกค่ายาจากโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการถูกกระจายไปอยู่แทบทุกพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะกับ 3 อำเภอหลักที่มีประชากรมาก คือ อำเภอถลาง อำเภอกระทู้ และอำเภอเมือง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการรับยาที่ร้านยา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ มีร้านยาที่อำเภอเมืองภูเก็ตเข้าร่วมแล้ว 27 ร้าน มีผู้ป่วยไปรับยา 450 คน อำเภอถลางมีร้านยาเข้าร่วม 7 ร้าน มีคนไข้ไปรับยา 59 คน และที่อำเภอกระทู้ มีร้านยาเข้าร่วม 10 ร้าน และมีคนไข้ไปรับยา 41 ราย ซึ่งจากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และผลสะท้อนจากผู้ป่วยพบว่ามีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับการไม่ต้องเสียเวลารอคอยการรับยาที่โรงพยาบาลนานเหมือนเดิม
ขยายกลุ่มโรคเข้าโครงการ “รับยาที่ร้านยา”
จากเดิมดำเนินโครงการตามแนวทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการรับยาที่ร้านยา โดยจะเน้นในผู้ป่วยกลุ่มโรค NCD ให้เข้าร่วมโครงการ แต่จากการประเมินของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และสปสช.เขต 11 ในฐานะที่ดูแลพื้นที่ พบว่ามีกลุ่มโรคเรื้อรัง 17 กลุ่มที่สามารถเข้าโครงการรับยาที่ร้านยาได้ ซึ่งก็ออกมาเป็นมติร่วมกันว่าให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 17 โรคเข้าร่วมโครงการ และสามารถรับยาที่ร้านยาได้
ซึ่งประกอบไปด้วย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคทางจิตเวช โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบไต โรคระบบประสาท โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคระบบกระดูกและข้อ โรคระบบตา หู คอ จมูก โรคระบบผิวหนัง โรคมะเร็ง และโรคระบบหลอดเลือด
ทั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านงานวิจัยออกมา ยืนยันได้ว่าการรับยาที่ร้านยาสำหรับพื้นที่ จ.ภูเก็ตได้ผลดี ด้วยระยะเวลารอรับยาจากการรับยาที่ร้านยาลดลงได้มากถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับการรอรับยาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ขณะที่ความพึงพอใจของคนไข้ก็มีให้กับโครงการนี้สูงถึง 75% เลยทีเดียว
ให้ความรู้ สู่ความเข้าใจ ร่วมประเมินคนไข้ เชื่อมโยงข้อมูลกับรพ.
ในช่วงแรกของโครงการ ผู้ป่วยยังมีความไม่เข้าใจในรายละเอียดของโครงการ โดยมีข้อกังวลในเรื่องของคุณภาพยาที่ไปรับที่ร้านยา จะเหมือนกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลหรือไม่ หรือจะได้พบแพทย์อีกหรือไม่ รวมทั้งความกังวลที่ครอบคลุมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายจากการไปรับยาที่ร้านยา อีกทั้งการได้รับคำแนะนำสำหรับการใช้ยาจะเหมือนกับไปพบแพทย์หรือไม่ด้วย
แต่หลังจากที่บุคลากรของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้คำแนะนำ อธิบาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดการรับรู้ และความเข้าใจในโครงการรับยาที่ร้านยามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากขึ้นรื่อย ๆ เช่นกัน
“แต่ละห้องตรวจโรค ทีมแพทย์ พยาบาล ก็จะช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าข่ายสามารถร่วมโครงการได้ ก็จะแนะนำชักชวนให้เข้าโครงการรับยาที่ร้านยา และบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล ส่วนเภสัชกรร้านยา ก็มีการประเมินคนไข้ เพื่อนัดคนไข้เป็นระยะสำหรับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคนไข้และร้านยาเองที่ต้องมีการติดตามการใช้ยา และประเมินอาการของโรคเพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลส่งให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลจะก็มีการลงพื้นที่ร้านยา เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นของโครงการระหว่างกัน โดยร้านยาก็จะมีป้ายสัญญลักษณ์ที่สามารถรับยาได้ใกล้บ้านประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งด้วย” ภญ.ฉัตรลดา สุทธินวล กล่าว
เภสัชภูมิใจ ไม่ใช่แค่จ่ายยา แต่ได้ดูแลคนไข้ในชุมชน
นายเกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า โครงการรับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ ที่สำคัญคือเราได้มีบทบาททางวิชาชีพเภสัชกรที่มากกว่าการจ่ายยา นั่นคือการได้ร่วมดูแลผู้ป่วย ได้ดูแลแนะนำและติดตามอาการของคนไข้ที่มารับยาที่ร้านยา ซึ่งไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ค่าตอบแทนเป็นผลกำไรมากมาย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความภูมิใจมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ในสิทธิ์ประกันสังคม หรือสิทธิ์ข้าราชการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างว่า มีคนไข้จากสิทธิ์บัตรทองที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา แต่ได้เปลี่ยนสิทธิ์การรักษาเป็นสิทธิ์ข้าราชการตามบุตร ซึ่งเราไม่สามารถบันทึกข้อมูลสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่คนไข้อยากเข้าโครงการต่อ เพราะคนไข้สะดวกกว่าการไปรับยาที่โรงพยาบาล ที่ต้องรอเวลานาน ร้านยาก็ทำให้แม้ไม่ได้ค่าตอบแทน ซึ่งข้อมูลความต้องการของคนไข้สิทธิ์อื่น ๆ ในการรักษาที่ต้องการมารับยาที่ร้านยา ร้านยาเองก็ส่งข้อมูลกลับไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไป” ประธานชมรมร้านยาจังหวัดภูเก็ต กล่าว
ภก.สมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า ได้วิเคราะห์จากตัวผู้ป่วยในสิทธิ์บัตรทองที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งก็พบว่า ปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าโครงการ 44 ร้าน กระจายทั้งเกาะภูเก็ต เพราะประชากรมีการเคลื่อนย้ายการทำงาน เช่น มีที่พักในพื้นที่อำเภอหนึ่ง แต่ต้องไปทำงานอีกอำเภอ
ดังนั้น เมื่อคนไข้เลือกร้านขายยาเพื่อเข้าร่วมโครงการ ก็จะมีโบรชัวร์แผ่นพับให้พิจารณาว่าคนไข้สะดวกไปรับยาที่ร้านยาที่ไหน เพราะไม่ได้จำกัดว่าต้องใกล้บ้าน แต่หากใกล้ที่ทำงานก็ทำได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนสิทธิ์ประกันสังคมที่อยากเข้าร่วมโครงการ พบว่ายังติดปัญหาในเชิงระบบอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นแพ็กเกจที่น่าพิจารณาเนื่องจากเป็นการดูแลคนไข้ทั้งระบบด้วยเช่นกัน
กางแผนที่ ชี้จุด "รับยาที่ร้านยา" ดึงคนไข้เข้าร่วมได้มากขึ้น
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เสนอถึงประเด็นการชักชวนผู้ป่วยของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้เข้าร่วมโครงการ “"รับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ" เช่น การจัดทำป้ายแผนที่ร้านยา ที่เข้าร่วมโครงการว่ามีที่ใดบ้าง รวมถึงประโยชน์ที่ประชานจะได้รับ เช่น ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ต้องรอนาน มีเภสัชร่วมติดตามใกล้ชิด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน และเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ มากกว่าการที่จะให้บุคลากรไปแนะนำหรือชักชวนผู้ป่วยแต่ละรายให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านยาไปด้วย และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ กับโรงพยาบาล ก็จะเป็นเครือข่ายการให้บริการประชาชนร่วมกันต่อไป
- 2399 views