จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทย ณ วันที่ 4 ต.ค.64 พบว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 9,930 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 97 ราย ยอดผู้ป่วยกำลังรักษา 109,748 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วจำนวน 1.6 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยบุคลากรด่านหน้านับเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการ ทั้งการสกัดกั้นเฝ้าระวังโรค การค้นหากลุ่มเสี่ยง การส่งตัวเข้าระบบการรักษา ตลอดจนการติดตาม เพื่อชะลอภาระงานการรักษาพยาบาลในระดับจังหวัด ไม่ให้สูงขึ้นไปจนถึงขั้นวิกฤตหรือเกิดภาวะเตียงล้นได้

ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อเร่งรัดต่อการสกัดกั้นสถานการณ์โควิดของกำลังคนด่านหน้าดังกล่าว อาจกระทบต่อการให้บริการปกติหรือบริการปฐมภูมิที่มีความจำเป็นอื่นๆได้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนทุนวิจัย “การศึกษาสถานการณ์และความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19” เพื่อให้มีข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล นักวิจัยเครือข่าย สวรส. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการประเมินภาระงานของบุคลากรระดับปฐมภูมิ ในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และวิเคราะห์ศักยภาพบุคลากรระดับปฐมภูมิ ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลกำลังคนจาก ระบบข้อมูลทรัพยากรบริการปฐมภูมิ และข้อมูลบริการจาก Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (ปีงบประมาณ 2561-2562 และเดือน ม.ค.- มิ.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบแรก) มาประเมินภาระงานบริการ 6 ประเภท ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอก ฝากครรภ์ วัคซีน ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และคัดกรองโรคเรื้อรัง ของทุก รพ.สต. ทั้งประเทศ ร่วมกับข้อมูลระยะเวลาการให้บริการเฉลี่ยของบริการ 6 ประเภท และกิจกรรมในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จาก รพ.สต. 9 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม

การศึกษานี้ได้วิเคราะห์ภาระงานขั้นต่ำของบุคลากรที่ทำงานประจำอยู่ที่ รพ.สต. ที่ให้บริการรักษา ส่งเสริมป้องกัน และมีบทบาทในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วคำนวณชั่วโมงการทำงานที่เหลือหลังหักด้วยภาระงานขั้นต่ำ โดยภาระงานขั้นต่ำได้จากภาระงานบริการ 6 ประเภท รวมกับชั่วโมงการทำงานในชุมชนและงานอื่นๆ ที่คิดโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อนำมาคาดประมาณศักยภาพในการทำกิจกรรมควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ได้แก่ จำนวนการติดตามผู้สัมผัสหรือการค้นหาเชิงรุกที่สามารถทำได้สูงสุดใน 1 วัน

ซึ่งสามารถคิดระยะเวลาการติดตามหรือค้นหาเชิงรุกเฉลี่ย 0.12 ชั่วโมง หรือ 7.2 นาทีต่อราย ทั้งนี้ ผลจากการศึกษา โดยใช้เวลาร้อยละ 50 ของชั่วโมงการทำงานหลังหักภาระงานขั้นต่ำมาคำนวณ พบว่า ในระดับจังหวัด สามารถติดตามผู้สัมผัสหรือค้นหาเชิงรุกได้เฉลี่ยประมาณ 5,000 รายต่อวัน หากระดมบุคลากรจากทุกรพ.สต. ในจังหวัด ในขณะที่ระดับอำเภอ สามารถติดตามผู้สัมผัสหรือค้นหาเชิงรุกได้สูงสุด โดยเฉลี่ยประมาณ 430 รายต่อวัน หากระดมบุคลากรจากทุกรพ.สต. ในอำเภอ และสำหรับระดับ รพ.สต.

ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75) สามารถติดตามผู้สัมผัสหรือค้นหาเชิงรุกได้ 20–80 รายต่อวัน แต่ก็มีร้อยละ 10 ของรพ.สต.ทั้งหมด ที่มีปัญหาบุคลากรไม่พอที่จะดำเนินการควบคุมโรคได้ตามลำพัง ดังนั้น โดยภาพรวม รพ.สต. ส่วนใหญ่ยังมีศักยภาพ ในการควบคุมการระบาดของโรคในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง โดยอาจจะต้องมีการระดมบุคลากรในระดับอำเภอ หรือในระดับจังหวัด หากการระบาดของโรครุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดตามผู้สัมผัส การตรวจหาเชื้อ การส่งผู้สัมผัสไปยังสถานที่กักตัว การเข้าเวรด่านคัดกรอง การประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังในชุมชน เป็นต้น โดยปฏิบัติการคู่ขนานไปกับภาระงานที่ต้องทำตามปกติ ทั้งนี้เนื่องจากบุคลากรมีความสามารถในการบริหารจัดการชั่วโมงการทำงานบางส่วนที่สามารถยืดหยุ่นได้ โดยอาจจะต้องลดงานบางส่วนลง ในช่วงการระบาดของโรค เป็นต้น

นางสาวสุมิตรา ยาน้ำทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.อ้อมเกร็ด จ.นนทบุรี 1 ใน 9 รพ.สต. พื้นที่ศึกษาของงานวิจัยดังกล่าว กล่าวว่า รพ.สต.อ้อมเกร็ด มีบุคลากรปฏิบัติงาน 3 คน คือ พยาบาลวิชาชีพ 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 2 คน โดยรับผิดชอบดูแลประชาชนจำนวน 4,500 คน การทำงานของหน่วยบริการจะคล้ายๆกับ รพ.สต.ทั่วไป คือ มีการบริการตรวจรักษา คัดกรองโรคเรื้อรัง ฝากครรภ์ การฉีดวัคซีน รวมทั้งการจัดบริการเชิงรุกในพื้นที่ เช่น การคัดกรองเบาหวาน เดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมงานธุรการ งานข้อมูลที่ต้องรายงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ผ่านมา การดำเนินงานของ รพ.สต. ได้เริ่มปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โดยร่วมกับทางอำเภอปากเกร็ด เช่น ตรวจคัดกรองอุณหภูมิตามด่าน การออกหน่วยเพื่อร่วมตรวจคัดกรองผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงตามตลาด โรงงาน แคมป์คนงาน ฯลฯ ส่วนกิจกรรมหลักในพื้นที่ยังเป็นการสอบสวนโรค การติดตาม/เยี่ยมผู้สัมผัสหรือคนที่กักตัวตามบ้าน การส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล งานออกหน่วยเชิงรุก การฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชน การดูแลผู้ป่วยโควิดที่อยู่ตามบ้าน รวมถึงการประจำที่ศูนย์พักคอยร่วมกับส่วนท้องถิ่น

ทำให้งานบริการสาธารณสุขบางอย่างของ รพ.สต. ต้องหยุดไปด้วยข้อจำกัดของภาระงานที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ งานทันตกรรม งานคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานในลงชุมชน การล้าง/ดูแลแผลผู้ป่วยกดทับในผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นงานที่ประเมินแล้วไม่กระทบกับผู้ป่วยมากและสามารถให้คนในบ้านหรือ อสม. ช่วยดูแลได้ โดยรวมการทำงานของ รพ.สต.อ้อมเกร็ด ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้เพราะทำงานลักษณะเป็นทีมร่วมกับอำเภอ แต่ผลกระทบในระดับคนทำงานคือ ต้องทำงานในวันหยุดและการอยู่เวรตามโรงพยาบาลสนามหรือสถานกักตัว

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และความสามารถในการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผลการวิจัยระบุว่าระบบบริการปฐมภูมิยังสามารถบริหารจัดการได้ ถึงแม้ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและมีภาะงานเพิ่มเข้ามา เช่น การฉีดวัคซีน การตั้งจุดพักคอย โรงพยาบาลสนาม ตลอดจนจุดที่เป็นคลัสเตอร์ระบาดใหม่

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเสนอว่า ควรมีการวางแผนระดมกำลังคนในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด หากสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้ในระดับจังหวัด ควรวางแผนในรูปแบบของโซน แล้วขยายพื้นที่การระดมบุคลากรตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งควรมีการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อจัดสรรภาระงาน และซักซ้อมความเข้าใจ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะต้องระดมกำลังคนในการควบคุมการระบาดของโรคในอนาคต ส่วน รพ.สต. อาจจะต้องมีการทบทวนการปรับการให้บริการ เช่น ลดระยะเวลาบริการ ลดบริการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษานี้จะได้นำเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นแนวทางการวางแผนกำลังคนสำรองในพื้นที่ ระดับอำเภอ และจังหวัด ต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org