ห้ามขายเหล้าเข้าพรรษา สธ.ย้ำโทษจำคุก-ปรับ ชี้เงินสะพัด1.2แสนล.
เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายงานการสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญประเพณีช่วงเข้าพรรษา ปี 2556 ของคน กทม.จากกลุ่มตัวอย่าง 416 คน พบว่าร้อยละ 96.4 เห็นว่าเทศกาลเข้าพรรษา ยังคงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ช่วยสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ร้อยละ 69.2 มีแผนจะเข้าร่วมกิจกรรมในวันเข้าพรรษา โดยเลือกทำบุญที่วัดใน กทม.มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา วัดในจังหวัดใกล้เคียง กทม.ขณะที่กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 70 เดินทางไปทำบุญกับสมาชิกในครอบครัวโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว
นอกจากนี้การจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ มีแนวโน้มที่เกื้อหนุนการเติบโตของตลาดคนไทยให้เที่ยวในประเทศไทย ช่วงไตรมาส 3 ของปี โดยคาดการณ์ว่า จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 30.2 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากปีก่อน
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยที่เที่ยวในประเทศ นับว่ายังเติบโตในอัตราค่อนข้างดี จากช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2555 ที่บรรยากาศภายในประเทศยังไม่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังภัยน้ำท่วมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554
สำหรับเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ มีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยประมาณร้อยละ 23 คิดเป็นมูลค่า 2.75 หมื่นล้านบาท สะพัดไปสู่ธุรกิจด้านที่พัก รองลงมาร้อยละ 22 คิดเป็นมูลค่า 2.65 หมื่นล้านบาท สะพัดสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2.15 หมื่นล้านบาท สะพัดสู่ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี เม็ดเงินรายได้จากการท่องเที่ยวนี้ยังสะพัดสู่ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่ง และธุรกิจด้านบันเทิงและนันทนาการ ในสัดส่วนเท่ากัน คือ ร้อยละ15 คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 3.6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มโดยรวมตลอดปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 6.1 จากปีก่อนหน้า โดยในช่วงไตรมาส 4 ยังมีปัจจัยหนุนจากการที่นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นช่วงปลายปี
วันเดียวกัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มีข้อมูลจากหน่วยงานนานาชาติด้านวิจัยโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก รายงานล่าสุดในปี 2555 ว่า มีหลักฐานชัดเจนว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งถึง 8 กลุ่ม ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับอ่อน ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่ม
ขณะเดียวกันและยังส่งผลให้เกิดปัญหา เช่น อุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ ปัญหาอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22-23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันพระใหญ่ 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ฉะนั้น กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมายงดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั้งหมด ตั้งแต่หลังเวลา 24.00 น.วันที่ 21 กรกฎาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 24.00 น.วันที่ 23 กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ ได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ ประสานตำรวจออกตรวจร้านค้าในพื้นที่ หากพบผู้ฝ่าฝืนให้ลงโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการออกตรวจผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ออกตรวจจับร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อกวดขันการปฏิบัติตามกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม วันและเวลาห้ามขาย บุคคลที่ห้ามขาย และการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ผิดกฎหมาย เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 21 กรกฎาคม ถึงเที่ยงคืนวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดทันที
“ตลอดปี2555 พบผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ รวม 66,881 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 17,079 ราย โดยเป็นความผิดฐานขับขี่รถในขณะมึนเมาสุรามากอันดับ 1 จำนวน 58,162 ราย คิดเป็นร้อยละ 87 ของผู้กระทำผิดทั้งหมด รองลงมา คือ จำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต 6,982 ราย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่ม 669 ราย จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน เวลา ที่ประกาศห้ามจำหน่าย 307 ราย และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้าม 288 ราย” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ส่วน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วันว่า ขอความร่วมมือประชาชนในการงดดื่มสุราในวันสำคัญทางศาสนา สำหรับผู้ค้า ทั้งร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และปั๊มน้ำมัน ห้ามจำหน่ายสุรา ตั้งแต่หลังเวลา 24.00 น.วันที่ 21 กรกฎาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 24.00 น.วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตำรวจจะเน้นการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ทั่วประเทศ ในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ที่มา: http://www.naewna.com
- 25 views