ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการให้บริการทางด้านสาธารณสุข ที่ประชาชนสามารถเลือกที่จะจ่ายตามกำลังซื้อของตนเอง เพื่อให้ได้รับการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีอยู่ทั้งสิ้น 324 แห่ง ในขณะที่ โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่หมื่นกว่าแห่ง
ทั้งนี้ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไทยชูยุทธศาสตร์ในการเป็น Medical tourism hub ทำให้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งที่ได้การรับรองมาตรฐาน JCI หรือ HA ต่างหันมาจับกลุ่มลูกค้าคนไข้ชาวต่างชาติ ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มตลาดคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทยมีรายได้เติบโตในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้โรงพยาบาลเอกชนในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีจำนวนโรงพยาบาลเอกชนอีกจำนวนมากที่คนไข้หลักยังคงเป็นกลุ่มคนไทย ซึ่งหากดูรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมแล้ว กลุ่มลูกค้าคนไข้ชาวไทยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของรายได้รวม ในขณะที่เหลืออีก 30% เป็นรายได้ จากคนไข้ต่างชาติ ทำให้กลุ่มลูกค้าคนไทยของโรงพยาบาลเอกชนก็ยังเป็นกำลังหลัก ในการขับเคลื่อนธุรกิจนี้
และในปัจจุบันจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาได้ส่งผลต่อการลดลงของกำลังซื้อของประชาชนคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางลงมา ซึ่งสวนทางกับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการบริหารจัดการ
ทำให้กลุ่มลูกค้าคนไข้คนไทยที่จ่ายเงินสด (Out-of-pocket payment) และกำลังเผชิญภาวะกำลังซื้อลดลงได้หันไปหาทางเลือกอื่นๆ ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิการรักษาของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนผ่านระบบประกันสังคมหรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งก็เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวจากตัวเลขจำนวนการใช้บริการของผู้ประกันตนกรณีเจ็บป่วยของสำนักงานประกันสังคม ในปี 2558 ที่เพิ่มขึ้น 4.5% แล้ว
ทั้งนี้ จากการปรับพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าว จะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยให้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
เมื่อหันมาดูภาพรวมโครงสร้างคนไข้แบ่งตามค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็จะพบว่า กลุ่มประกันสังคมและข้าราชการรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 30% ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มคนไข้ที่จ่ายเงินสด (รวมประกันสุขภาพเอกชน) ที่มีสัดส่วน 27% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวม (ในขณะที่ที่เหลือเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรทอง) สะท้อนถึงทางเลือกในการปรับตัวรับมือกับการปรับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าคนไข้คนไทยที่เผชิญเรื่องภาวะกำลังซื้อ โดยการขยายฐานลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้คนไทยเป็นหลัก ไปยังกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ
ซึ่งข้อดีของกลุ่มคนไข้ทั้ง 2 ประเภท ดังกล่าวคือ เป็นกลุ่มที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างแน่นอน แต่การเข้าร่วมทั้งระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (CSMBS) ของโรงพยาบาลเอกชนนั้น คงต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่แต่ละระบบกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมทั้ง 2 ระบบดังกล่าวยังมีจำนวนไม่มาก
โดยในระบบประกันสังคมนั้น มีจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่รับคนไข้ตามสิทธิประกันสังคมจำนวน 84 แห่ง และมีโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 157 แห่ง ในขณะที่ระบบ CSMBS ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ 32 แห่งที่เข้าร่วม โดยมีเงื่อนไขในการเบิกจ่ายที่อาจจะไม่เท่าโรงพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการพิจารณาโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมในระบบ CSMBS เพิ่มเติม ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ สามารถขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
ทั้งนี้โรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการปรับตัวโดยการขยายฐานลูกค้าคนไข้ชาวไทยไปยังกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการอาจจะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย การกำหนดค่ารักษาพยาบาล ภาพลักษณ์ของธุรกิจโรงพยาบาล ในภาพรวม ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาจุดแข็งของโรงพยาบาลเอกชนในเรื่องของอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับบริการ รวมถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลเอาไว้ให้ได้
แนวทางการปรับตัวอีกทางหนึ่งคือ การขยายฐานลูกค้าไปยังคนไข้ต่างชาติซึ่งก็ยังมีโอกาสอยู่มาก ทั้งจากการขยายตัวของชนชั้นกลางของประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางระบบสาธารณสุขที่ยังปรับตัวรองรับไม่ทัน นอกจากนี้ก็ยังมีการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตลอดจนกระแสดูแลผู้สูงอายุ
สำหรับแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในระยะข้างหน้า นอกเหนือไปจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนไข้ที่มีศักยภาพต่างๆ แล้ว ในบางรายก็ได้มีการเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังกลุ่ม Non-hospital เช่น การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนมากนัก เป็นต้น
แต่ในบางรายที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว อาจจะอาศัยกระแสรักสุขภาพต่อยอดการให้บริการรักษาอาการเจ็บป่วยไปสู่การให้บริการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมไปถึงการควบคุมโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง โดยการจัดทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือนักโภชนาการ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการให้บริการด้านสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการร่วมมือกับผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารผลิตอาหารสุขภาพ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ในภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ดี แม้ว่าจะเผชิญภาวะกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีแนวทางการปรับตัวรับมืออยู่หลายทาง ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งของโรงพยาบาลในภาพรวม รวมถึงการต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามความเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันกับภาครัฐยังคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศให้มีความยั่งยืนในระยะยาว
ผู้เขียน : ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 มีนาคม 2559
- 52 views