ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2558 น่าจะทะลุ 1 แสนล้านบาท หรือขยายตัวกว่า 10-15 % โดยการเติบโตดังกล่าวเกิดจากการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ศักยภาพในต่างจังหวัด เพื่อรองรับกับกลุ่มคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 10 % ต่อปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติทั้งที่เป็นกลุ่ม Medical Tourism และกลุ่ม EXPAT (กลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย (Expatriate) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่ม EXPAT) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทย และคาดว่าในปี 2558 อัตราการรักษาพยาบาลของคนไข้ชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชนของไทยทั้งหมดน่าจะมีประมาณ 2.81 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10.2%โดยตลาดหลักของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป ในขณะที่ตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง ได้แก่ อาเซียน (CLMV)และจีน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนในบางประเทศอย่างยุโรป ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลของคนไข้กลุ่ม Medical Tourism บ้าง แต่ถึงกระนั้น หากมองในทางกลับกัน ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า คนไข้ชาวต่างชาติอาจจะเลือกรับการรักษาพยาบาลในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าอย่างเช่นประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับประเด็นท้าทายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย เมื่อพิจารณาจากด้วยความโดดเด่นของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการเปิดการค้าเสรี AEC ในปี 2558 ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ของต่างชาติไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่นักลงทุนประเทศนอกอาเซียนอย่างญี่ปุ่น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากขึ้น
จากสัญญาณความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าว จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่เห็นได้ชัด คือ การควบรวมกิจการ หรือการ M & A การขยายธุรกิจเพื่อจับลูกค้าในเซ็กเม้นต์ที่กว้างขึ้น และพยายามเข้าถึงพื้นที่ศักยภาพมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกับธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ หรือแม้แต่ธุรกิจบริการอื่นๆ ที่รองรับกับผู้ติดตาม อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และพร้อมรับมือกันการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ประเด็นสำคัญคือ เพื่อรักษาความมีชื่อเสียงทางด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทย รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเป็น Medical Hub ที่รองรับกับตลาดคนไข้ชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และความมั่นคงในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานแก่คนในประเทศ
- 51 views