ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถิติ การจมน้ำของกระทรวงสาธารณสุข 10 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ.2546-2555) พบเด็กจมน้ำ เสียชีวิตจำนวน 12,982 คน หรือปีละ ประมาณ 1,300 คน และในปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม พบเด็กจมน้ำแล้ว 421 คน จากผลสำรวจข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2556 พบว่า ประชาชนร้อยละ 92.6 ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของการปฐมพยาบาลว่า เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำ แล้ว ให้จับเด็กอุ้มพาดบ่าหรือกดหน้าท้อง เพื่อกระแทกเอาน้ำออก ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะความพยายามที่จะเอาน้ำออกไม่มีความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดผลเสียได้เพราะเด็กจะอาเจียนและอาจทำให้สำลัก อีกทั้งทำให้การช่วยชีวิตเด็กช้าลงไปอีก
สำหรับวิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี มีดังนี้ เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำ และเด็กไม่หายใจควรเป่าปากในทันทีเพื่อช่วยหายใจ เพราะเด็กที่จมน้ำหมดสติ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงยังคงต้องรีบเป่าปากเพื่อช่วยหายใจอยู่ และหาก ไม่แน่ใจว่ามีชีพจรให้นวดหัวใจ กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที สลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 30:2 หรือจำง่ายๆ คือ 1.เป่าปาก 2 ครั้ง 2.ปั๊ม 30 ครั้ง ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด"อย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง"
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 11 กรกฎาคม 2556
- 11 views