ครม.เพิ่งเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาใหม่ ของ กระทรวงแรงงาน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 เพิ่ม ทางเลือกที่ 3 แก่ ผู้ประกันตน ที่เป็น แรงงานนอกระบบ (อาชีพอิสระ) ให้ได้ประโยชน์ตอบแทนอย่างยั่งยืน กรณี “ชราภาพ” แบบเดียวกับ กองทุนการออมแห่งชาติ ของ รัฐบาลประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่า กองทุนการออมมีข้อจำกัดเยอะ แต่ทางเลือกใหม่ให้ประโยชน์ประชาชนได้มากกว่า
หลังจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงเสนอให้ ยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในกองทุนประกันสังคมแทน เพราะมีเนื้อหาแนวทางเดียวกัน
ทีนี้ก็มาดูกันว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับ ทางเลือกที่ 3 ใน กองทุนประกันสังคม อย่างไหนจะให้ประโยชน์แก่ “ผู้ประกันตน” ได้มากกว่ากัน เริ่มตั้งแต่ “คุณสมบัติ” กันเลย กองทุนการออมกำหนดให้บุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี และไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ ที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้างเป็นสมาชิก
ทางเลือกที่ 3 ก็รับสมาชิกอายุ 15-60 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างในเรื่อง “สิทธิการออมตามอายุ” คือ กอช.อนุญาตให้สมาชิกออมได้ถึงอายุ 60 ปีเท่านั้น แต่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นปีแรก ให้สมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ออมเงินต่อไปได้อีก 10 ปี พอปีที่ 2 จะไม่ได้สิทธินี้ สมาชิกที่มีอายุ 50 กว่าปีขึ้นไป ก็ออมได้แค่อายุ 60 เกินไม่ได้
แต่ ทางเลือกที่ 3 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 ที่แก้ไขใหม่ เปิดกว้างให้เข้าเป็นสมาชิกปีไหนก็ได้ สามารถออมเงินได้ตลอดไป ไม่กำหนดอายุการออมของผู้ประกันตน ข้อนี้จะเห็นว่า ทางเลือกที่ 3 ดีกว่ากองทุนการออม เพราะคนไทยมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้าอายุเฉลี่ยคนไทยจะเพิ่มเป็น 80 ปี จึงต้องมีเงินออมไว้ใช้จ่ายอีก 20 ปี หลังอายุ 60 ไม่ใช่สิ้นสุดที่อายุ 60
เรื่อง “เงินสมทบกองทุน” ของ กอช.กำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายเงินออมอย่างต่ำครั้งละ 50 บาท แต่รวมทั้งปีต้องไม่เกิน 13,200 บาท โดยให้ส่งเงินออมเดือนละครั้ง แต่ ทางเลือกที่ 3 ให้ออมเงินได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100 บาท สูงสุดไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท หรือไม่เกิน 12,000 บาทต่อปี ซึ่งมีความยืดหยุ่นกว่า
ด้าน “เงินสมทบจากรัฐ” ของ กอช. กำหนดให้รัฐจ่ายสมทบ ดังนี้
อายุ 15-30 ปี รัฐบาลจ่ายสมทบ 30% แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท อายุ 31-50 ปี รัฐจ่ายสมทบ 80% แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐจ่ายสมทบ 100% แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท ถือว่าน้อยมาก แต่ ทางเลือกที่ 3 ไม่กำหนดอายุ ผู้ประกันตนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ก็ได้รับเงินจากรัฐเดือนละ 100 บาท แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
ทีนี้มาดูเรื่อง “ประโยชน์ทดแทน” บ้าง สมาชิก กอช. จะได้เงิน “บำนาญ” เท่านั้น เมื่อครบ 60 ปี หากออมน้อยจนทำให้บำนาญที่ได้รับมีจำนวนน้อยกว่าเงินดำรงชีพ (ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง) สมาชิกจะได้รับเงินดำรงชีพเป็นรายเดือนจนกว่าเงินในบัญชีจะหมดไป
แต่ ทางเลือกที่ 3 ของ ผู้ประกันตน สามารถที่จะเลือกรับเป็น “บำเหน็จ” หรือ “บำนาญ” ก็ได้เมื่อครบ 60 ปี และแจ้งยุติเป็นผู้ประกันตน
ข้อดีอีกข้อของ ทางเลือกที่ 3 ก็คือ หลังจากอายุครบ 60 ปี ก็ยัง สามารถออมต่อไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่เจตจำนงของผู้ประกันตน แต่ สมาชิก กอช. จะทำอย่างนี้ไม่ได้ พออายุ 60 ปีก็ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพเลย นอกจากนี้ใน บทเฉพาะกาล ของกฎหมายประกันสังคม ยังอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถประกันตนได้ และ การออม กับ เงินสมทบ รัฐก็จะ จ่ายย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ กองทุนการออมแห่งชาติ เปิดรับสมาชิกเป็นวันแรก ไม่มีผู้ใดเสียประโยชน์
เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ผมก็เห็นว่า ทางเลือกที่ 3 ใน กองทุนประกันสังคม มีเงื่อนไขที่ ดีกว่า กอช. ทั้งเรื่องอายุสมาชิก การจ่ายเงินสมทบ และการจ่ายเงินคืนในยามชรา
เท่าที่ทราบ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง ทำเรื่องนี้มานานแล้ว ก่อน 8 พฤษภาคมปีที่แล้ว ก่อนที่ คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ จะยื่นถอดถอน แต่เพิ่งมาเสร็จเอาตอนนี้ เพราะระบบราชการแบบไทยๆอะไรก็คลอดยากเหลือเกิน
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 76 views