ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะที่ดีในประเทศ หลายคนอาจลืมไปว่า สถาบันสงฆ์ ก็ถือเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญของบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยจำนวนพระสงฆ์กว่า 3 แสนรูป ทั่วประเทศ เปรียบได้กับองค์กรใหญ่ๆ หนึ่งองค์กรที่เราต้องย้อนกลับมาดูว่า สุขภาวะของพระสงฆ์ในบ้านเราวันนี้เป็นเช่นไร
บนเวทีสัมมนาภายใต้หัวข้อ "สถานการณ์เร่งด่วนสุขภาวะพระสงฆ์: ระเบิดที่รอเวลา" สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการสาธารณสุขในรั้ววัด ทั่วประเทศ ที่ไม่ค่อยมีใครหันมาเหลียวแล โดยในงานนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เชิญบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจการสงฆ์ มาสะท้อนคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ในประเทศของเรา พร้อมข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจ
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า จากการสุ่มสำรวจ และสัมภาษณ์พระสงฆ์ใน 11 จังหวัด รวมกว่า 246 รูปพบความจริงที่น่าตกใจว่า กว่า 1 ใน 3 ของพระสงฆ์ทั่วประเทศ ตกอยู่ ในสภาวะอ้วนกว่ามาตรฐาน และกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ ก็ส่อไปในทางทำลายสุขภาพแบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการติดบุหรี่ การติดเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
"ส่วนหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการที่ญาติโยมนำมาถวาย แต่หากพิจารณาแล้ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลือกทดแทนได้ด้วยการถวายสิ่งอื่น" รศ.ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ อาจารย์จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวและบอกว่า พระสงฆ์บางรูปสูบบุหรี่มากถึงวันละ 11 มวน ในขณะที่ พระนิสิตที่ต้องเรียนพระธรรมก็เล่าว่า ต้องดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการอ่านหนังสือสอบ
ไม่เพียงเท่านั้น จากการสำรวจอาหารและโภชนาการ กลับพบความจริงที่น่าใจหายว่า อาหารซึ่งมีร้านจัดเตรียมสำหรับใส่บาตรตามท้องตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้คุณภาพ
โดยจากการสำรวจในตลาดที่อยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต จะมีการแยกกันขายระหว่างอาหารใส่บาตร กับอาหารที่ซื้อไปรับประทานเอง ซึ่งเมื่อทดลองไปซื้ออาหารใส่บาตรในตลาดแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ พบว่า แทนที่อาหารใส่บาตรจะมีคุณภาพที่ดีกว่าอาหารทั่วไป แต่กลับพบว่าคุณภาพของอาหารใส่บาตรที่ได้ทดลองซื้อมาเวลา 06.00 น. และเมื่อแกะถุงออกตอนเวลา11.00น.ในวันเดียวกัน พบว่าอาหารมีกลิ่น และบูด
ทั้งหมดนี้คือต้นกำเนิดของปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคตา และโรคเบาหวาน ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสถาบันสงฆ์จนทุกวันนี้
โดยโครงการสงฆ์ต้นแบบ โภชนาดีชีวียั่งยืน จึงผลิตสื่อครบวงจร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเบื้องต้นเป็นเสมือนคู่มือในการดูแลการรักษาสุขภาพในพระสงฆ์ ได้แก่ 1.องค์ความรู้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ คู่มือสูตรสงฆ์ไทยไกลโรค วีดิทัศน์สงฆ์ไทยไกลโรค ปฏิทินสุขเริ่มเมื่อเพิ่มก้าว โปรแกรมปานะปัญญา หรือ iPaana และประคดเอวรอบรู้ ซึ่งเป็นสายวัดรอบเอวที่ทำเป็นรัดประคด หากพระสงฆ์ใช้วัดแล้วเกิน 90 เซนติเมตร แสดงว่าจะอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง
2.องค์ความรู้สำหรับฆราวาส อาทิ คู่มือใส่ใจใส่บาตร และ 3.องค์ความรู้สำหรับผู้ค้าอาหารใส่บาตร อาทิ คู่มือจากครัว สู่บาตร เผยแพร่ผ่านทางมหาเถรสมาคม และมหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณ- ราชวิทยาลัย(มจร.) เพื่อเป็นแนวทางดูแลโภชนาการพระสงฆ์
ขณะเดียวกัน พระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม ก็กล่าวเสริมว่า พระสงฆ์ควรดูแลสุขภาพตนเองด้วยการ ออกกำลังกายควบคู่ไปกับการปฏิบัติวินัยสงฆ์ด้วย ซึ่งการออกกำลังกาย ที่ดีที่สุดคือการเดินบิณฑบาต
"การออกบิณฑบาต เป็นอุบายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์ได้พบกับพุทธศาสนิกชน ทั้งยังถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย ขณะที่การเดินจงกรมเป็นอีกหนึ่งการออกกำลังกายที่พระสงฆ์สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ผิดพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 มิถุนายน 2556
- 17 views