นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม(Alprazolam) ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นผลให้ไม่สามารถผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท
จึงขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายและตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป ร้านขายยาจะไม่สามารถมีไว้ในครอบครองหรือขายอัลปราโซแลม(Alprazolam) ให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป โดยขอให้ส่งยาที่คงเหลืออยู่คืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่ายทั้งหมด หากพ้นกำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย
สำหรับโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงทบวง กรม รวมทั้งสภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์กรมหาชน) กรุงเทพมหานคร เฉพาะสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจโรงพยาบาลเอกชนคลินิก ที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง หากไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อีกต่อไป ให้ส่งคืนยาแก่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า หรือผู้แทนจำหน่าย ก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ด้วยเช่นกัน แต่หากประสงค์จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อต้องขออนุญาตฯ โดยโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่นในทุกพื้นที่ และโรงพยาบาลเอกชน คลินิก ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. สำหรับโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ที่อยู่ในเขตปริมณฑล และส่วนภูมิภาค ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
สำหรับ ผู้มีไว้ในครอบครองฯ ทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต จะต้องจัดทำบัญชีรับ – จ่ายวัตถุออกฤทธิ์และรายงานทั้งรายเดือนและรายปี ส่ง อย. ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนผู้บริโภคนั้นสามารถมียาดังกล่าวไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ เพียงแต่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและสั่งใช้ตามจำนวนที่ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายให้เฉพาะตนเองเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น
- 37 views