“P4P” หรือ Pay-for-Performance เป็นอาวุธที่ดีสำหรับโรงงานผลิต แต่ไม่ใช่สำหรับหมอรักษาคนไข้...ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย
กระนั้นก็มีความจริงอีกมุมที่ต้องสะท้อนออกมาเล่าสู่กันฟัง นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า รัฐบาลมองถึงเรื่องความมั่นคงของระบบประกันสุขภาพในอนาคต เนื่องจากใน 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่าตัว
“ในภาพรวมงบประมาณของประเทศไทยด้านสุขภาพใช้ไปราวร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด หากปล่อยให้งบก้อนนี้โตไปเรื่อยๆ ไม่เข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ก็จะไปกินงบ ประมาณลงทุนของประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่จะมาสร้างรายได้เข้าประเทศ”
รวมทั้งในอีก 22 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากประสบการณ์ ของประเทศญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะคนสูงอายุต้องการการดูแลที่มาก กว่าคนปกติหนุ่มสาว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์ประดิษฐ บอกว่า กระบวนการที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ทำได้หลายๆอย่าง อันดับแรกสุด เช่น ร่วมกันบริหารให้เป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสม หรือมีการแบ่งทรัพยากรกันใช้ เช่น โรงพยาบาลเล็กร่วมกันใช้ห้องผ่าตัด หรือมีการร่วมกันซื้อยาเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง
ในด้านกำลังคน ให้มีการแบ่งปันกำลังคนกัน เพราะถ้ายังบริหาร แบบเดิม...แต่ละโรงพยาบาลใช้คนที่แยกกัน คนก็จะไม่เพียงพอและต้องขอเพิ่มตลอด ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มคน
ขณะนี้เรามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เป็นงบประมาณด้านกำลังคนเกือบร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด การเพิ่มคนโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จะเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน ดังนั้นจึงมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำ P4P คือ...ประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง...รัฐบาลเข้าใจดีว่า การจ่ายเงินให้แพทย์หรือทันตแพทย์ในอดีต ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแบบเหมาจ่าย มีจุดประสงค์ส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังไม่ทั่วถึงกลุ่มบุคลากรอื่นๆ เช่น พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทำให้รายได้ยังเหลื่อมล้ำ ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้
นอกจากนี้ จับตาไปที่...เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่ผ่านมายังไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าให้ไปแล้วรัฐบาลต้องได้ผลลัพธ์อะไร จึงได้ทำ “P4P”...ขึ้นมา โดยมุ่งหวังว่าสิ่งที่ประชาชนจะได้ขึ้นมาคือ
1. เชิงปริมาณ กระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น 2.เชิงคุณภาพ โดยมีตัวชี้วัด ในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เช่น ลดอัตราการป่วยด้วยไข้เลือดออก หรือผู้ป่วยเบาหวานได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น
นับรวมไปถึงตัวชี้วัดคุณภาพด้านการรักษาพยาบาล เช่น การลดระยะรอคิว ผ่าตัดแล้วไม่มีการติดเชื้อ ทำให้คนไข้กลับบ้านเร็วขึ้น รักษาคนไข้หายเร็วขึ้น คุณภาพการรักษาและการบริการด้านอื่นก็ต้องดีขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยการปรับการจ่ายค่าตอบแทนครั้งนี้ มีเงินส่วนหนึ่งที่ให้เป็นค่าคงที่ แล้วบวกด้วย P4P...
สุดท้าย...จะได้ประโยชน์คือลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของภาครัฐกับเอกชน ได้เงินเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน...คุณภาพงานที่ชัดเจน ตอบคำถามรัฐบาลและประชาชนได้
“สำคัญที่สุด หัวใจของ P4P คือมีการวัดผล ซึ่งจะช่วยในเชิงบริหาร โดยผู้อำนวยการหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร ถ้าเราจะประเมินองค์กรหรือหน่วยงานของเราว่ามีผลงานที่ดีไหม สามารถรับใช้ประชาชนได้หรือไม่ ก็ต้องมีการวัดผล”
นายแพทย์ประดิษฐ ย้ำว่า ในกระบวนการของการทำ P4P ต้องวัดผล ทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น หัวหน้างานบริการบอกว่า คนเข็นเตียงทำไมชั่วโมงหนึ่งแล้วเข็นไปแค่ 2 เตียงเท่านั้น ทั้งๆที่ยังมีคนไข้นั่งรออยู่
“เท่านี้ก็วัดผลได้แล้วว่าทำไมเข็นไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคิวไม่ดี คุณภาพเปลไม่ดี เตียงไม่ดี จึงทำให้ทำงานไม่ได้ ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งการทำ P4P จะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมาก...
และถ้าเราไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นการวัดผล เพื่อจะได้ปรับปรุงคุณภาพ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนได้แน่ๆ”
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนนั้น มีประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วย ในส่วนเจ้าหน้าที่...ในหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะเป็นการสะท้อนการอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ยาก ขาดแคลน ซึ่งต้องจ่ายเป็นอัตราคงที่
อีกส่วนคือ “การจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน” หรือ “P4P” เป็นการจ่ายเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานเกินเกณฑ์ ซึ่งหลักการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คิดว่าหลักการนี้ทุกคนเห็นตรงกัน ส่วนในรายละเอียด เช่น พื้นที่ วิธีการจ่าย วิธีการเก็บคะแนน และวงเงินที่จ่ายนั้น ในระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ก็เปิดให้มีการปรับเพื่อให้สอดคล้อง และไม่แข็งตัวเกินไป เป็นอำนาจของผู้ตรวจราชการ...ผู้บริหารกระทรวงฯ
น่าสนใจสำหรับประโยชน์ในส่วนของประชาชน นายแพทย์ณรงค์ สะท้อนว่า ในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน การคิดค่าคะแนนไม่เพียงการรักษาพยาบาลอย่างเดียว ยังครอบคลุมถึงการส่งเสริม ป้องกัน งานวิชาการ งานเยี่ยมบ้านและอื่นๆ
“ผลทำให้กิจกรรมบางอย่างที่ไม่เคยได้รับการบันทึกก็จะถูกบันทึก และจะทำให้คนทำงานในส่วนนั้นๆ ได้เห็นคุณค่าของงาน ซึ่งผลประโยชน์จะกลับมาที่ประชาชน”
โรงพยาบาลหลายแห่งที่ดำเนินการมาแล้ว ได้ผลประเมินชัดเจนว่า ทำให้เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นที่จะทำงาน แม้กระทั่งระดับปฏิบัติการ เช่น เวรเปล ซึ่งจะมีการบันทึกคะแนน
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เขามองถึงปริมาณและคุณภาพที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะช่วยในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ทั้งในส่วนของนักเรียนทุนรัฐบาลและในส่วนของนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก็คือจะพยายามให้เกิดความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด
ประเมินความก้าวหน้าของการทำ “P4P” มีข้อมูลว่า...ขณะนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ได้เริ่มเก็บข้อมูลแล้ว
หลังจากที่ได้ชี้แจงผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของ 800 กว่าแห่งเข้ามารับฟัง และมีหลายแห่งที่พร้อมที่จะจ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
ส่วนในภาพรวมของโรงพยาบาลชุมชนก็พยายามจะทำความเข้าใจร่วมกันกับผู้บริหารระดับเขต ผู้บริหารระดับจังหวัด เตรียมพร้อมที่จะทำเรื่องนี้ ส่วนที่มีหลายคนได้สะท้อนปัญหาการทำ เช่น การปรับเงิน วงเงินน้อยไป ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไปดู
นโยบายรัฐบาลชัดเจนว่า ถ้าประหยัดหรือเพิ่มประสิทธิภาพได้ เงินก้อนนั้นก็น่าจะเอากลับมาใช้เป็นค่าตอบแทน...ทั้งหมดเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญและเป็นหัวใจของ “P4P” อีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องรับฟัง.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 6 มิถุนายน 2556
- 395 views