หลังจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ลงมติเป็นเอกฉันท์เลิกจ้างนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ด้วยเหตุผลบกพร่องต่อหน้าที่และไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง จนกลายเป็นปมร้อนตามมานั้น ล่าสุดบอร์ดได้มีมติแต่งตั้ง"ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ" รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้ามานั่งรักษาการผู้อำนวยการ อภ.แทน จนกว่าจะสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ได้ ทว่าการเข้ามานั่งรักษาการบนความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุขณะนี้ ทำให้ทั้งคนในแวดวงสาธารณสุขและฝ่ายการเมืองจับตามอง โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพองค์การเภสัช
หลายคนมองว่าท่านเป็นเด็กของฝ่ายการเมือง
"ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม หลังจากผู้อำนวยการคนก่อนถูกเลิกจ้างไปนั้น แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตและมีคำถามว่าเป็นเด็กใครหรือไม่นั้น ตรงนี้ต้องขอพูดเลยว่าไม่รู้เหมือนกันว่าเราเป็นเด็กใคร แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือ ใครเป็นนายเราก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย แต่สิ่งสำคัญคือนโยบายทุกอย่างต้องถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งตรงนี้สามารถไปถามผู้อำนวยการทุกท่านได้เลยว่า อะไรที่เราไม่เห็นด้วยจะทักท้วง ซึ่งไม่ใช่การทักท้วงด้วยวาจา แต่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชัดเจนและสบายใจต่อทั้งสองฝ่าย
ลำบากใจหรือไม่ที่ต้องมารับตำแหน่งในช่วงนี้
ตอบตามตรงว่าลำบากใจมาก เพราะทุกคนรู้ว่าตอนนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังมีปัญหากองอยู่เยอะมาก และก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่สามารถแก้ได้เฉพาะคนในองค์กรเท่านั้น อีกทั้งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทางสาธารณะก็กำลังเฝ้ามองอยู่ รวมไปถึงฝ่ายการเมืองก็เฝ้ามองอยู่ด้วย โดยเฉพาะตัวของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจึงตอบได้เลยว่าหนักใจมาก เพราะถึงแม้ว่าปัญหาจะไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเรา แต่ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ขึ้นมาดูแลองค์การเภสัช ก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดถึงแม้ว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ4 เดือน ก่อนเกษียณจะทำได้ไม่หมดก็ตาม นอกจากนี้ก็ยังรู้สึกกังวลใจในเรื่องของความรู้สึกขัดแย้งในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเราต้องยอมรับว่าคนคนหนึ่งนั้น จะต้องมีทั้งคนรักและคนเกลียด รวมถึงคนที่รู้สึกเฉยๆ กับเรา เพราะฉะนั้นการขึ้นมาเป็นรักษาการผู้อำนวยการ อาจทำให้คนรักอดีตผู้อำนวยการรู้สึกโกรธ รู้สึกไม่ชอบ ประกอบกับขณะนี้ก็มีกระแสจากภายนอกเข้ามาด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งของแต่ละกลุ่มค่อนข้างรุนแรง จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนองค์การเภสัชกรรมช่วยกันทำให้องค์กรเดินต่อไปได้
"เคยคุยกับสหภาพฯ ว่าจริงๆ แล้วใครรักใครนั้นเป็นเรื่องปกติ และส่วนตัวก็มองว่าการออกมาต่อสู้เพื่อคนที่รัก ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรจะทำ แต่ตัวองค์กรนั้นจะต้องไม่เสียหาย และจะต้องช่วยกันให้องค์กรสามารถเดินต่อไปได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่พยายามทำ แต่ส่วนตัวก็ยังรู้สึกว่ามันก็ยังมีปัญหาอยู่ จึงคิดว่าจะคงต้องมีการสื่อสารกันให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยพูดกับตัวแทนสหภาพฯ ว่าหากเปรียบองค์การเภสัชกรรมเหมือนหม้อหุงข้าว ตัวพี่จะกินข้าวหม้อนี้ไปอีกแค่ 4 เดือน แต่หลายๆ คนจะยังต้องกินต่อไปอีกนาน ดังนั้นถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่แล้วล่ะ"
หลังจากขึ้นมารับตำแหน่งมีแรงต้านโดยส่วนตัวหรือไม่
ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นการเข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า เพราะอย่างที่ได้พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า คนที่รักคุณหมอวิทิตมากๆ นั้นก็มี แต่ในความรู้สึกส่วนตัวแล้วนั้น ถ้าถามว่าคนที่รักคุณหมอวิทิตเหล่านั้นเขาเกลียดพี่หรือไม่ ยืนยันได้ว่าไม่มีใครเกลียดพี่ เพราะฉะนั้นถามว่าตอนนี้มีคนต่อต้านหรือไม่ ตอบได้เลยว่าตอนนี้ยังไม่เห็น ขณะเดียวกันเมื่อวันที่รับตำแหน่งก็ได้คุยกับทางสหภาพฯ ว่าหากเห็นว่าใครเหมาะสมกว่า ก็สามารถเสนอขึ้นมาแทนได้เลย จะยินดีมากและก็ไม่รู้สึกเสียหน้าด้วย เพราะหลังจากรับตำแหน่ง ไม่มีวันไหนเลยที่เซ็นต์เอกสารเสร็จก่อนตีหนึ่ง
งานหนักมากและต้องอ่านให้ละเอียดก่อนเซ็นต์
มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซง ประเด็นนี้มองว่าเราอย่าไปคิดเลยว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือเปล่ามีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปตรงจุดนั้นได้ แต่ตอนนี้เราน่าจะเอาวิกฤติที่เกิดขึ้นมานั่งทบทวนกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้น แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจเกิดขึ้นเพราะคนอื่นด้วย แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรจะกลับมาดูว่าปัญหานั้น เรามีส่วนสร้างมันขึ้นมาด้วยหรือไม่ เช่น ความที่เราไม่ใฝ่รู้หรือไม่เชี่ยวชาญเรื่องระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เราดำเนินการผิดพลาด จนเกิดเป็นข้อบกพร่องมากมาย เราควรมานั่งพิจารณากันหรือไม่ว่า จากเรื่องของวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล จากเรื่องของยาโคลพิโดเกรล จากเรื่องของโรงงานยารังสิต โรงงานแมสโปรดักชัน โรงงานผลิตยาวัคซีน ว่าแต่ละเรื่องนั้นมีข้อบกพร่องอะไร เอากลับมาทบทวนเพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นอีกในอนาคตเพราะหลังจากนี้องค์การเภสัชกรรมก็ยังมีโครงการใหญ่ๆ อีกหลายโครงการที่จะต้องทำ โดยเฉพาะแผนการย้ายโรงงานที่พระราม 6 ออกไปจากกรุงเทพมหานคร เพราะโรงงานผลิตยาไม่ควรจะอยู่ใจกลางเมือง อีกทั้งก็ประสบปัญหาความแออัดหนาแน่น จนไม่สามารถจะขยายอะไรได้อีก ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ใหญ่มาก ดังนั้นหากเราไม่เอาบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเรียนรู้ เราจะไปทำโครงการใหม่ได้อย่างไร
จากนี้ไปภารกิจใดบ้างที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
เรื่องแรก คือ วัตถุผลิตยาพาราเซตามอล ซึ่งล่าสุดได้นัดกับตัวแทนบริษัทมาเจรจา และอย่างที่บอกไปว่าหากขอคืนได้จะดีที่สุด แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าจะยาก เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเขา เนื่องจากเราเอามาเก็บไว้นาน ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำได้ก็คือการแลกเปลี่ยน ให้ได้สินค้าที่ใหม่ที่สุดมา แม้จะมีการตั้งคำถามอยู่ดีว่าจะเชื่อมั่นได้หรือไม่ จึงต้องมีการดึงหน่วยงานกลางเข้ามาร่วมตรวจพิสูจน์ด้วย นั้นก็คือคณะกรรมการองค์การอาหารและยา(อย.)
เรื่องที่สอง คือยาโคลพิโดเกรล หรือยาโรคหัวใจที่มีการซื้อไว้ 2 ปี และจะหมดอายุช่วงเดือน ก.ย. ตามความเป็นจริงแล้วก็ไม่ควรจะนำไปใช้แล้วซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของบริษัท เพราะเรามาเก็บไว้นานเอง แต่เนื่องจาก เป็นคู่ค้ากันมานาน เขาก็ยอมว่าหากตรวจคุณภาพเม็ดยาแล้วยังใช้ได้ แม้ว่าตัวแผงจะหลุดลอกไปบ้าง ก็ยินดีเปลี่ยนให้ ซึ่งยาล็อตใหม่ที่จะได้มานั้น ทางเราก็จะต้องเจรจากับ สปสช. ขอให้ซื้อมาที่เรา อย่างน้อยในราคาที่เราซื้อมาไม่เอากำไร แต่ถ้า สปสช.ไม่ซื้อเพราะราคายาต่อเม็ดสูงกว่ามาก ก็อาจต้องนำไปขายในภาคเอกชน ซึ่งตรงนี้ต้องมีการเจรจาต่อไป
เรื่องที่สาม คือ เรื่องความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญาจ้างเหมา จึงต้องพิจารณาตามสัญญานั้นๆ ไป เช่น ถ้าผู้รับเหมาไม่เข้ามาทำตามสัญญา และฝ่ายองค์การเภสัชกรรมไม่ได้เป็นผู้ผิด คงต้องทำการยกเลิกสัญญา ซึ่งตอนนี้มีการบอกเลิกไปแล้ว 1 สัญญา คือ โรงงานผลิตยาเอดส์ ส่วนเรื่องที่สี่ คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ ที่ตอนนี้มีสต็อกอยู่ประมาณ 300 ล้าน ตอนนี้กำลังเจรจากับกรมควบคุมโรคว่าเขามีแผนเตรียมการป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกอย่างไร เราจะได้รู้ว่าจะมีการใช้วัตถุดิบประมาณไหนแล้วสุดท้ายจะมีวัตถุดิบที่จะหมดอายุก่อนการนำไปผลิตเท่าไหร่ เพื่อจะได้คิดกันตั้งแต่วันนี้เลยว่าเราจะทำอย่างไรกับยาที่เหลือ
เรื่องที่ห้า คือ โรงงานแมสโปรดักชัน ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องในการผลิตยา ซึ่งจะต้องใช่ระยะเวลาในการทดสอบ ประมาณ2 เดือน และถ้าทุกอย่างราบรื่นก็จะสามารถผลิตยาได้ และเรื่องสุดท้าย คือน้ำเกลือ ที่มีการนำเข้ามาสำรองในช่วงน้ำท่วม และขณะนี้ยังคงเหลือกองอยู่เยอะนั้น ตอนนี้ทาง สธ.ก็ได้ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลให้สั่งซื้อเข้ามาที่เรา ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรมก็ทำการจัดกลุ่มน้ำเกลือ พร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพดูว่าอายุของแต่ละกลุ่มจะหมดเมื่อไหร่ เพื่อที่ได้ประเมินดูว่าจะทำอย่างไรกับน้ำเกลือที่ใช้ไม่ทันก่อนหมดอายุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มิถุนายน 2556
- 17 views