เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพยื่นเงื่อนไขการเจรจารัฐบาล เน้นปลดหมอประดิษฐพ้นเก้าอี้ ชี้เป็นตัวปัญหา มีพิมพ์เขียวเพื่อแพทย์พาณิชย์ ห้ามแปรรูป อภ. หยุดแทรกแซง สปสช. จี้หากเจรจาล้มเหลว เจอกันแน่ที่บ้านนายกฯ 20 มิ.ย.นี้ ด้านฟากรัฐบาลมี 13 กลุ่มวิชาชีพ สธ.มอบดอกไม้ให้กำลังใจ "นายกฯ-รมว.สธ." หนุนให้ใช้ P4P
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มตัวแทนจาก 13 สมาคมและชมรมวิชาชีพในวงการสาธารณสุขกว่า 200 คน อาทิ แพทยสมาคม ชมรมโรงพยาบาล ศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เป็นต้น ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล และการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน (P4P) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ รวมทั้งช่อดอกไม้ให้กำลังใจ
โดย นพ.ประดิษฐเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพูดคุยกับชมรมแพทย์ชนบทว่า ที่ผ่านมา สธ.เปิดโอกาสในการพูดคุยมาโดยตลอด แต่ทางชมรมแพทย์ชนบทมีจุดยืนที่ไม่เข้าร่วมพูดคุย จนล่าสุดก็ตกลงว่าจะมาปรึกษาหารือว่าจะพัฒนาระบบนี้อย่างไรร่วมกันในวันที่ 6 มิ.ย.
"ตั้งแต่มีการเริ่มทำก็ได้เชิญแพทย์ชนบทมาคุยกันตลอด ว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องราบรื่นและไม่มีปัญหา ครั้งนี้ก็ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่จะเริ่มต้นกันอย่างดี การมาคุยเพื่อประชาชน ทำประโยชน์เพื่อประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว" รมว.สาธารณสุขระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการพูดคุยวันที่ 6 มิ.ย.จะได้ข้อยุติหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าต้องคุยกันกี่ครั้ง แต่อย่างน้อยก็จะได้ข้อมูลพื้นฐานในการหาวิธีการร่วมกัน หากตกลงกันได้ก็ตกลงในวันนั้นไปเลย สิ่งใดที่มีข้อคลาดเคลื่อนก็กลับไปทำข้อมูลแล้วมาคุยกันใหม่ได้
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 17.45 น. เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพร่วมกันแถลงจุดยืนก่อนการหารือกับฝ่ายตัวแทนรัฐบาล โดย นพ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางเครือข่ายขอประณาม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว. สาธารณสุข (สธ.) กรณีที่มีการจัดตั้งม็อบให้กำลังใจที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด อีกทั้งยังมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จโดยการกล่าวอ้างว่าทุกคนเห็นด้วยในนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีโฟร์พี และมีโรงพยาบาลชุมชนเพียงไม่กี่แห่งที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องการเมือง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐหยุดการแทรกแซง และควรลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ไม่ได้รับการตอบสนองจากทางรัฐบาลทั้งหมด หรือการเจรจาล้มเหลว ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางไปชุมนุมที่บ้าน นายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 มิ.ย.นี้แน่นอน ไม่เลื่อนไปอีกแล้ว แต่จะยืดเยื้อหรือไม่นั้นต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
"เราเคลื่อนไหวอยู่ 2 ประเด็นคือ ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ และตัวบุคคล ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของทางเครือข่ายฯ ที่รัฐบาลจะต้องรับทั้งหมด นพ.ประดิษฐเป็นตัวปัญหา ไม่น่าไว้วางในในระบบบริการสาธารณสุข เพราะว่ามีพิมพ์เขียวแพทย์พาณิชย์ให้ นพ.ประดิษฐเป็นคนดำเนินการ ซึ่งบางข้อดำเนินการไปแล้ว บางข้ออยู่ระหว่างดำเนินการ" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ที่ต้องเจรจากับฝ่ายรัฐบาลในส่วนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) คือ 1.รัฐบาลต้องไม่แปรรูป อภ. 2.ยุติการใช้เงินของ อภ.โดยมิชอบ เช่น การสั่งจ่ายเงิน 4,000 ล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของ สธ. 3.ให้ยุติการใช้เงิน สนับสนุนกิจการภาครัฐโดยไม่ชอบ เช่น การสั่งจ่ายเงินจำนวน 75 ล้านบาทให้กับ สธ. 4.ให้เร่งรัดคณะ กรรมการดำเนินคดีกับผู้ที่ให้ร้ายและบิดเบือน อภ. และให้คณะกรรมการ อภ.ในชุดปัจจุบันลาออกยกคณะ
ในส่วนข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคือ 1.ให้ยุติแนวคิดการใช้ระบบร่วมจ่ายและยก เลิกการเก็บ 30 บาท 2.หยุดแทรกแซงการบริหารงาน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเน้นหลักการแยกบทบาทผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ และให้ความเป็นอิสระจาก สธ. โดย นพ.ประ ดิษฐควรทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลเท่านั้น ไม่ใช่ผู้สั่งการ 3.ให้คืนความเป็นธรรมให้กับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.อภ.
ส่วนเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนเรียกร้องให้คงระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4, 6 พร้อมทั้งปรับปรุงการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้ง 2 ฉบับให้ครอบคลุมวิชาชีพอื่นๆ โดยตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนในการพัฒนาระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และพิจารณาทบทวนพื้นที่ใหม่ทั้งหมดโดยเร็ว ในส่วนงบประมาณเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้นให้มาจากงบประมาณแผ่นดิน และยกเลิกการทำพีโฟร์พีอย่างไม่มีเงื่อนไข
"เรามองว่ามันเป็นยาพิษ เสพเข้าไปมีแต่อันตราย ไม่มีคุณภาพ ใช้โดยไม่คำนึงถึงหลักการบริการสุขภาพ เป็นการทำลายวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็นการทำเพื่อล่าแต้ม เพื่อเงิน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปสามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์" นพ. เกรียงศักดิ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 5 มิถุนายน 2556
- 2 views