“วัตถุดิบยาพาราเซตามอล... มีการปลอมปน”

ตามติดมาด้วย เงื่อนปม “การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ ไข้หวัดนกล่าช้า...ส่อเค้าอาจมีการทุจริต”

ข่าวฉาวร้าวร้ายที่สร้างความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมเรียกว่าหนักหนาสาหัสที่สุดนับตั้งแต่องค์การเภสัชกรรมถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบปี

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ส่งข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริง ย้อนรำลึกถึงพันธกิจ...องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรหลักในการจัดหายาให้แก่ประชาชนทั้งในยามปกติ ยามวิกฤติ...ฉุกเฉิน

 “ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำองค์การเภสัชฯเสมือนตกเป็นเหยื่อ ถูกทำลาย ซึ่งจะมีผลให้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามาเอารัดเอาเปรียบขูดรีด ประชาชนได้ตามอำเภอใจ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ”

เงื่อนปมที่เกิดขึ้น มีความซับซ้อน...สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ขอเสนอข้อเท็จจริงแยกเป็นเรื่องๆ เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจและติดตาม

กรณี “ยาพาราเซตามอล” พอจะสรุปข้อกล่าวหาได้ว่า 1.เหตุใดจึงจัดซื้อจากบริษัทเดียวและเหตุใดจึงจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ 2.แหล่งที่จัดซื้อพบการปนเปื้อนแล้วเหตุใดจึงจัดซื้อเพิ่มอีก 100 ตัน จากเดิมที่ซื้อเอาไว้แล้ว 48 ตัน 3.เหตุใดจึงสำรองวัตถุดิบไว้เป็นจำนวนมากทั้งที่โรงงานผลิตยังไม่พร้อม

คำชี้แจงข้อแรก...ตัวยาทุกชนิดรวมทั้งตัวยาพาราเซตามอล มิใช่สินค้าตามท้องตลาด เช่น ข้าว น้ำปลา ผงซักฟอก ฯลฯ แต่เป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิตไม่มาก โดยเฉพาะแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เหมาะสมกับเครื่องจักรที่ทำการผลิตและราคาย่อมเยา

องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการเสาะแสวงหาแหล่งผลิต เริ่มต้นจาก 6 แหล่ง ทำการตรวจสอบตามขั้นตอน ทั้งการนำตัวยามาทดลองผลิต การตรวจจากเอกสารหลักฐานและการตรวจโรงงาน

ในที่สุด...พบว่า แหล่งผลิตที่ถูกต้องเหมาะสมมีเพียงแหล่งเดียวที่ได้มาตรฐานสากลของทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย โดยสนนราคาก็ย่อมเยา จึงได้ทำการจัดซื้อ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ

การจัดซื้อตัวยาโดยลักษณะพิเศษลักษณะนี้ กระทำเป็นปกติวิสัยทั่วไป มิใช่จำเพาะแต่ตัวยาพาราเซตามอลในกรณีนี้เท่านั้น

ข้อที่สอง...แหล่งที่จัดซื้อพบการปนเปื้อน ทำไมซื้อเพิ่มอีก 100 ตัน คำตอบมีว่า “การจัดซื้อครั้งแรก 48 ตัน อนุมัติเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ตรวจสอบคุณภาพแล้วได้มาตรฐาน...ต่อมามีการจัดซื้อครั้งที่2 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 จำนวน 100 ตัน...และยางวด 2 ส่งถึงองค์การเภสัชฯเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555”

ขณะที่โรงงานเภสัชกรรมทหารแจ้งเรื่องพบการปนเปื้อนให้องค์การเภสัชกรรมทราบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่องค์การเภสัชกรรมได้รับการอนุมัติจัดซื้อไปแล้ว 1 ปีเศษ...และยาได้ส่งถึงองค์การเภสัชกรรมแล้ว 9 เดือนเศษ

ข้อสังเกตสำคัญ โรงงานเภสัชกรรมทหารได้รับวัตถุดิบด้วยยาพาราเซตามอลจากองค์การเภสัชกรรมไปจำนวน 10 ตัน ได้ทำการ ตรวจสอบคุณภาพแล้ว “ผ่าน” จึงนำไปผลิต

ตัวยา 100 ตัน ที่องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อในงวดที่ 2 ส่งมาถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ทำการตรวจคุณภาพตามมาตรฐานแล้วพบว่า “ผ่าน” ทั้งหมด...โดยทำการสุ่มตรวจ 250 ถังจากทั้งหมด 2,000 ถัง

ข่าวเรื่องการ “ปนเปื้อน” มีความสับสน บางครั้งก็บอกว่า “ปลอมปน” บางครั้งก็บอกว่าเป็นการ “ปนเปื้อน” ...ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นอะไรกันแน่ และกรณีการที่พบว่า “ปนเปื้อน” หลังจากที่ตรวจสอบคุณภาพของตัวยา “ผ่าน”...แล้ว จะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า...

การปนเปื้อนเกิดจาก “ตัวยา” หรือ “กระบวนการผลิต”

ตัวยาเหล่านี้ หากมีการปลอมปนหรือปนเปื้อนจริง รวมทั้ง กรณีเสื่อมสภาพก่อนวันสิ้นอายุ บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายย่อมต้องรับคืนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ยาทั้ง 2 ลอตจะหมดอายุในเดือนมกราคม สิงหาคม และธันวาคม 2557 ตามลำดับ

 “การที่ปรากฏเป็นข่าวในทางเสียหาย องค์การเภสัชกรรมย่อมไม่สามารถนำตัวยาที่เป็นปัญหามาผลิตจำหน่ายได้ และ...กำลังดำเนินการขอคืนยาให้แก่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายแล้ว”

ข้อที่สาม...การสำรองวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก วัตถุดิบตัวยาพาราเซตามอล 148 ตัน ดูตัวเลขแล้วอาจเข้าใจว่ามากเกินไป แต่ความจริงไม่มากเลย ปริมาณยาขนาดนี้สามารถผลิตเป็นยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ได้ราวๆ 266 ล้านเม็ด...ตามสถิติจะจำหน่ายได้หมดในระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น

ปัญหา “การปนเปื้อน” ตัวยาพาราเซตามอล ยังมีปัญหา “ข้อเท็จจริง” ที่ต้องทำให้กระจ่าง เพราะยังมีความคลุมเครือว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ จะเป็นปัญหาปนเปื้อนหรือว่าปลอมปน หรือมีปัญหาอื่น

ประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ การที่พบการปนเปื้อนที่เม็ดยาที่ผลิต จะต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเกิดจากตัวยาหรือจากกระบวนการผลิต ควรพิสูจน์ ตรวจสอบตามหลักวิชาการก่อนที่จะมององค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ร้าย ให้ข่าวในลักษณะย่ำยีทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหายโดยไม่สมควร

ข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นเช่นนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม...ขอฝากคำถามไปยังรัฐมนตรี ว่า “เรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนยา เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้ไข โดยต้องรับฟังจากผู้รู้ พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ การใช้อำนาจสั่งการโดยรู้ไม่เท่าทันปัญหาและกลไกตลาด นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังอาจจะสร้างปัญหาได้ นอกจากนี้แล้วการละเลยไม่ทำหน้าที่ที่พึงกระทำก็ก่อปัญหาได้เช่นกัน...”

หากยังจำกันได้...เมื่อปลายปี 2555 เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเกลือทั้งๆที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม รัฐมนตรีสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองน้ำเกลือไว้ 7 ล้านถุง โดยสั่งการให้หน่วยงานต่างๆซื้อน้ำเกลือที่สำรองไว้จากองค์การเภสัชกรรม

ขณะนี้น้ำเกลือลอตที่ว่านี้เหลืออยู่กว่า 6 ล้านถุง โดยหน่วยงานต่างๆยังคงซื้อน้ำเกลือจากแหล่งจำหน่ายเดิม ไม่ยอมซื้อจากองค์การเภสัชกรรมตามที่รัฐมนตรีสั่งการไว้...จะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร

คำถามต่อมา...การปรับปรุงโรงงานเพื่อผลิตยาพาราเซตามอลและยาอื่นๆในลักษณะการผลิตจำนวนมาก มียาบางตัวต้องเคลือบเม็ดยาเพื่อป้องกันความชื้น องค์การเภสัชฯได้เสนอขอซื้อเครื่องมือโดยใช้เงินตัวเอง

แต่...ตามระเบียบเมื่อคณะกรรมการเห็นชอบแล้ว จะต้องเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบเสียก่อน

ขั้นตอนนี้ องค์การเภสัชฯเสนอเรื่องไปยังกระทรวงฯตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.55 ปลัดกระทรวงฯลงนามเสนอรัฐมนตรีวันที่ 27 พ.ย.55 แต่ปัญหามีว่ารัฐมนตรีไม่เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ โดยไม่มีการพิจารณาแจ้งเหตุขัดข้องใดๆ

มีการติดตามเรื่อง...ปรากฏว่า “เรื่องหาย ในที่สุดจึงมีการถอนเรื่องไปในเวลาต่อมา”

การละเลย ทำให้เกิดปัญหา ล่าช้า เสียหาย เสียโอกาสที่ผ่านเลยไป คงต้องโยนคำถามกลับไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้คลี่คลายได้บ้าง

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 22 พฤษภาคม 2556