ประธานบอร์ด อภ.ยันไม่เคยข่มขู่หมอวิทิต เผยเคยบอกไปแล้วให้ทำให้ถูก ด้านอดีต ผอ.เตรียมถกทนายฟ้อง สหภาพออกโรงจี้บอร์ดลาออกยกคณะ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติปลดออกจากตำแหน่งนั้น ได้นัดหารือกับทนายความในวันที่ 22 พฤษภาคม เพื่อหนังสือพิมพ์มติชนรายวันพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากต้องพิจารณาข้อกล่าวหาต่างๆ ประกอบกับข้อเท็จจริง
"หากไม่ตรงกับความจริง และสิ่งที่กระทำ ก็คิดว่าต้องมีการฟ้องร้องเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติยศของตัวเองและวงศ์ตระกูล" นพ.วิทิตกล่าว
ทางด้านนายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าจากเดิมมีกำหนดการนัดหารือกับกรรมการสหภาพ อภ. เพื่อกำหนดทิศทางในการต่อต้านบอร์ด อภ.ที่ทำให้องกรค์กรเสียหาย ในวันที่ 20 พฤษภาคม แต่ปรากฏว่ากรรมการมาไม่ครบ จึงไม่สามารถประชุมได้
นายระวัยกล่าวว่า จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน จะนัดอีกครั้งหลังวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พฤษภาคม จะมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อจับตาดูและป้องกันการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม ที่โรงแรมเจ้าพระยา
"เราจะเดินหน้าคัดค้านเคลื่อนไหวให้บอร์ด อภ.ลาออกทั้งคณะ เพราะต้องรับผิดชอบที่ทำให้องค์กรเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายว่าจะต้องยุติการแปรรูปองค์กร หยุดการแทรกแซงทางการเมือง จะหารือเพื่อกำหนดทิศทางในการปกป้ององค์การเภสัชกรรมต่อไป และจะนัดกลุ่มแพทย์ชนบทหารือร่วมกันด้วย" นายระวัยกล่าว
ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธาน บอร์ด อภ.กล่าวถึงกรณีสหภาพรัฐวิสาหกิจ อภ.และชมรมแพทย์ชนบทเตรียมเคลื่อนไหวกรณีบอร์ด อภ.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติสัญญาจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล เป็น ผอ.อภ.ว่า ขอยืนยันว่าการปลดครั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของกรรมการทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง และขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีใบสั่งจากใคร และไม่ได้ข่มขู่ นพ.วิทิต
"จริงๆ ไม่ได้อยากโต้เถียงกันไปมา แต่อยากชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะกรณีมีอดีตประธานบอร์ด อภ.ออกมาพูดว่าเรื่องนี้โยงการเมือง และตั้งประเด็นว่าการประชุมบอร์ด อภ.ที่ผ่านมามีการเลื่อนประชุมจากวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อให้เร็วขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงเนื่องจากวันที่ 23 พฤษภาคม กรรมการล้วนติดภารกิจ ส่วนทำไมต้องเลื่อนเร็วขึ้น ไม่เลื่อนออกไปเป็นหลังวันที่ 23 พฤษภาคม เพราะผมติดภารกิจส่วนตัวอีกเช่นกัน ขอยืนยันว่าการเลื่อนประชุมดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วขึ้น เหมือนที่บางฝ่ายเข้าใจ ว่าเรื่องนี้มีใบสั่ง เป็นเรื่องการเมืองแต่อย่างใด ที่สำคัญขอย้ำว่าไม่เคยข่มขู่ นพ.วิทิตเกี่ยวกับเรื่องเรื่องนี้ อย่างเรื่องการส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ในฐานะประธานบอร์ด อภ.บอก นพ.วิทิตตลอดว่าต้องทำให้ถูก ต้องส่งคืนให้บริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ นพ.วิทิตก็เคยออกสื่อว่าจะมีการส่งคืนบริษัท และมาปรึกษา ผมก็แนะนำว่าต้องทำให้ถูก ไม่งั้นผู้อำนวยการ อภ.ในฐานะผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่การข่มขู่ แต่เป็นเรื่องจริงตามระเบียบ อภ.ที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบองค์กร" นพ.พิพัฒน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นพ.วิทิตอาจมีการพิจารณาว่าการถูกเลิกจ้างสมเหตุผลหรือไม่ และอาจพิจารณาการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องทางใดทางหนึ่ง นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า หาก นพ.วิทิตเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ นพ.วิทิตจะดำเนินการได้ แต่ที่ผ่านมาบอร์ด อภ.ได้ให้เวลา นพ.วิทิตในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การมีมติยุติสัญญาจ้างก็เป็นการดำเนินการอย่างมีดุลพินิจจากบอร์ด อภ. มีมติเป็นเอกฉันท์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากบอร์ด อภ.มีมติปลด นพ.วิทิต กลุ่มเอ็นจีโอ อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ฯลฯ เริ่มรณรงค์ผ่านทางเว็บไซต์ www.change.org/th เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ยุติการปลด นพ.วิทิตออก จากตำแหน่ง พร้อมทั้งล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพื่อเตรียมส่งให้ ครม.นำไปประกอบการพิจารณาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 พฤษภาคม 2556
- 1 view