แม้ยังไม่ชัดแจ้งในความผิดเชิงประจักษ์ แต่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ถูก "เขี่ย" พ้นทางของใครบางคนแล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่21 พ.ค. เห็นชอบตามมติคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ให้เลิกจ้าง นพ.วิทิต ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนความ
การปลดผู้อำนวยการ อภ.ในครั้งนี้ นำมาสู่ข้อเคลือบแคลงที่สอดรับอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบัน อภ.มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกำไร 1,500-1,600 ล้านบาท โดย 99% ของรายได้มาจากตลาดในประเทศ
เนื่องด้วยเป็น"รัฐวิสาหกิจ" อภ.จึงต้องแสวงหาผลกำไรตามนโยบายของกระทรวงการคลังให้ได้มากที่สุด
จากรายงานประจำปี 2554 พบว่า อภ.มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 20% หรือประมาณ 1,960 ล้านบาท ซึ่งสวนทางโดยสิ้นเชิงกับแนวทางส่วนตัวของ นพ.วิทิต ที่ต้องการควบคุมรายได้ให้โตขึ้นไม่เกินปีละ 7%
"ถ้าเราลดรายได้ลงให้โตเพียง 7% คนไทยก็จะได้รับยาที่ถูกลงและได้รับอย่างทั่วถึง ในขณะที่ อภ.ก็ยังอยู่ได้" นพ.วิทิต ระบุ
แม้จะพยายามแข็งขืน แต่ที่สุดแล้วรายได้ยังคงโตขึ้นถึง 20% ...ใช่หรือไม่ว่า หากผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่สยบยอมสนองตอบนโยบายการเมือง มุ่งสร้างแต่กำไรลูกเดียว ในอนาคตประชาชนจะต้องซื้อยาแพงกว่าเดิม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา อภ.ได้เดินหน้าประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) หลายรายการ อธิบายโดยง่ายคือให้สิทธินำเข้าหรือผลิตยาชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบที่บริษัทยาข้ามชาติขายในราคาแพงได้
ตัวอย่างเช่น ยาต้นแบบบางรายการขายเม็ดละ70 บาท แต่ อภ.สามารถนำเข้ายาชื่อสามัญ(ยาตัวเดียวกันแต่ไม่มีสิทธิบัตร ผลิตขึ้นโดยบริษัทอื่นที่ไม่ใช่ผู้คิดค้น) ได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า อาจเหลือเพียงเม็ดละ 1-3 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ด้วยช่องว่างของราคาที่เปิดกว้าง (1-3 บาท กับ 70 บาท) อภ.ในฐานะผู้นำเข้า จึงมีตัวเลือกจากบริษัทที่หลากหลายสุดแล้วแต่จะสมประโยชน์
คำถามคือ ...หากผู้อำนวยการ อภ.ที่มาจากซีกการเมืองไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพของยา แต่กลับเลือกยาจากบริษัทที่ "ตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ" แม้จะมีราคาแพงก็ตาม ใช่หรือไม่ว่าประชาชนคือผู้แบกรับชะตากรรม
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่(ดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 47 ล้านคน) ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสข่าวถูกฝ่ายการเมืองเข้ายึดกุมอย่างเบ็ดเสร็จ ยินยอมซื้อยาราคาแพงตามที่ อภ.เสนอขาย(ตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง) นั่นหมายถึงงบประมาณชาติจำนวนมหาศาลที่จะต้องสูญเสียไป กล่าวอีกนัยหนึ่งนั่นคือภาษีของประชาชน
เมื่องบประมาณด้านสุขภาพประเทศเพิ่มมากขึ้นแน่นอนว่ารัฐบาล โดยเฉพาะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่ก่อนหน้านี้พยายามผลักดันให้ประชาชน "ร่วมจ่าย" ค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจยกอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อเดินหน้านโยบายอีกครั้ง
ที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกคำรบ
ล่าสุดเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้เปิดบัญชี "กองทุนสู้คดีเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ" (Fund for Justice in Health System)
กองทุนดังกล่าวมุ่งหมายช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกรังแกจากการดำเนินงานสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ หรือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกรณีแรกคือการสนับสนุนการสู้คดีของ นพ.วิทิต
ทั้งนี้ สมทบทุนได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ชื่อบัญชีกองทุนสู้คดีเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ เลขที่บัญชี 404-178433-6
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2556
- 2 views