เอ็นจีโอเปิดเว็บล่าชื่อยื่นค้านเลิกจ้าง"หมอวิทิต" จี้ ครม.ทบทวนเลขาฯ สปสช.ยันโยกงบ 75 ล้าน ให้ สธ.จัดการไม่ผิดระเบียบ"หมอวิชัย" เชื่อเป็นชนวนเหตุโดนเด้ง ส่วนเครือข่ายรพ.ชุมชนอีสานแต่งดำต้านพีฟอร์พี
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติเอกฉันท์ให้ยุติสัญญาจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(ผอ.อภ.) ส่งผลให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ออกมาคัดค้าน ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอเปิดล่ารายชื่อเพื่อยื่นครม.คัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการเสนอวาระปลด นพ.วิทิต เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องนี้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม และมอบหมายให้ตนเป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม.ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะฉะนั้นเสนอเข้าวาระปกติไม่ทัน แต่หากว่าจะมีการนำเข้า ครม.ก็จะเสนอเข้าวาระจรแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจากบอร์ด อภ.มีมติปลด นพ.วิทิต ออกจากตำแหน่ง กลุ่มเอ็นจีโอได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ยุติการปลด นพ.วิทิต จากตำแหน่ง ผอ.อภ.โดยล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพื่อส่งให้ครม.พิจารณา
ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด อภ. ปลด นพ.วิทิต มีความผิดปกติหลายประการ อย่างแรกคือ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมประชุมเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งไม่รู้ว่าทราบรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ในวาระดังกล่าวยังไม่มีเอกสารสรุปผลการสอบสวน ทั้งกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และกรณีก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก มีเพียง นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราฯ และ นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ มาอธิบายด้วยปากเปล่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ที่สำคัญยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงความบริสุทธิ์ตามระเบียบที่ควรจะเป็น
"คำสั่งปลด นพ.วิทิตจะมีผลก็ต่อเมื่อ ครม.ให้การรับรอง จึงได้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อคัดค้านการปลด นพ.วิทิต และอยากให้ นายกรัฐมนตรี และครม.ตีกลับวาระดังกล่าวไปให้บอร์ด อภ. พิจารณามาใหม่ ไม่ใช่ว่าใครเสนออะไรมาก็รับหมด ไม่เช่นนั้นจากที่เป็นความผิดของ บอร์ด อภ. ก็จะกลายเป็นความผิดของ ครม." นางสาวกรรณิการ์ กล่าว
นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงประเด็น ความพยายามแทรกแซง อภ. เพื่อหวังผลไปสู่การแปรรูป ว่า กระบวนต่างๆ นั้นยังเห็นได้ชัด ดังนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม ทางสหภาพ อภ. และองค์กรต่างๆ จะจัดเสวนาหัวข้อการเปลี่ยนแปลงระบบยาไทย เพราะการปลด นพ.วิทิต เชื่อมโยงความพยายามในการทำให้ อภ.อ่อนแอ โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม จะประชุมเพื่อสรุปแผนดำเนินการชัดเจนต่อไป
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดอภ. กล่าวว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริง 2 ประเด็นหลัก คือ 1.กรณีนพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ.ระบุว่า การที่บอร์ดมีมติให้ยุติสัญญาจ้างนพ.วิทิตเป็นการกระทำที่ตั้งใจและสนองการเมือง เพราะมีการเลื่อนการประชุมจากวันที่ 23 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 17 พฤษภาคมนั้น ข้อเท็จจริง คือ ตามกำหนดการประชุมเดิมคณะกรรมการหลายท่านติดภารกิจ จึงต้องเลื่อน ไม่เกี่ยวกับการเลื่อนเพื่อให้ทัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ทันทีหลังกลับจากการประชุมในต่างประเทศแต่อย่างใด ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเร็วเพื่อสนองนโยบายฝ่ายการเมือง แต่พิจารณาจากการที่นพ.วิทิต บกพร่องในหน้าที่เอง
ประธานบอร์ด อภ. กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การที่พนพ.วิชัยระบุว่า ตนข่มขู่นพ.วิทิตว่าหากไม่สามารถส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลได้จะหลุดจากตำแหน่งนั้น ในฐานะที่นพ.วิทิตนั้น เป็นผู้บริหารองค์การก็จำเป็นต้องรับผิดชอบในการเจรจาส่งคืน ซึ่งได้มาหารือกับตนว่าจะทำอย่างไร ก็ให้คำแนะนำไม่ได้เป็นการข่มขู่แต่อย่างใด ทั้งนี้ นพ.วิทิตเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้งแล้วจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรม แต่ที่ผ่านมาบอร์ดได้ให้เวลานพ.วิทิตในการแก้ปัญหาแล้ว
นพ.พิพัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีการโยกงบส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐของ อภ.จำนวน 75 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มาให้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง นพ.วิทิต ซึ่งเหตุที่มีการส่งงบมาที่สำนักปลัดฯ นั้น เพราะสปสช.ปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะเป็นหน่วยงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะเป็นหน่วยบริการโดยตรง ส่วนที่ยังไม่มีการอนุมัติงบ เนื่องจากสำนักปลัดฯ ยังไม่ได้เขียนโครงการ, เพื่อขอนุมัติงบ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ อภ.ว่าด้วยการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ในสัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ กรณีกระแสข่าวปลด นพ.วิทิต เหตุเพราะไม่อนุมัติงบ 75 ล้านบาท ให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขตามคำสั่งนักการเมืองว่าวงเงินดังกล่าวเป็นเงินสั่งจ่ายให้โรงพยาบาลของรัฐในฐานะผู้ซื้อ เพราะสปสช.ซื้อยาต้านไวรัสเอดส์ และวัคซีนทุกชนิดในการจัดส่งให้โรงพยาบาลรัฐรวม 2,000 กว่าล้านบาทในปีงบประมาณ2555เพื่อจูงใจให้สั่งซื้อและจ่ายชำระเงินได้เร็ว และจะมีงบต้องนี้คืนให้ โดยเป็นการทำตามระเบียบที่วางไว้สมัยนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวง เงินนี้สปสช.ต้องใช้ทำโครงการต่างๆ และเสนอเบิกใช้มายัง อภ. เช่นดูงานต่างประเทศ
"เงินนี้เป็นเสมือนเงินสวัสดิการ เพราะโรงพยาบาลให้บริการ 24 ชั่วโมงและไม่มีสิทธินำเงินไปใช้นอกระบบ แต่มีนักการเมืองสั่งระงับจ่ายและมีคำสั่ง อภ.ให้จ่ายแก่สำนักปลัดสาธารณสุข แต่อภ.มีระเบียบว่าต้องทำโครงการขึ้นมาเบิก ทาง นพ.วิทิตไม่กล้าจ่ายเพราะผิดระเบียบ และมีข่าวว่าหากไม่จ่ายก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ถูกปลด" นพ.วิชัย กล่าว
ส่วน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การโยกงบประมาณสนับสนุนกิจการภาครัฐของ อภ. ที่เดิมต้องจ่ายให้กับ สปสช. มาจ่ายให้กับกระทรวงสาธารณสุขแทนนั้น เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ผิดระเบียบ ซึ่งการโยกงบประมาณดังกล่าวนั้นก็เนื่องจากว่า สปสช. ต้องการให้งบประมาณดังกล่าวลงไปสู่หน่วยบริการและเกิดประโยชน์ต่ออย่างแท้จริง จึงให้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยบริการเป็นผู้พิจารณาของบแทนที่จะเป็น สปสช.
วันเดียวกัน ที่หน้าโรงแรมเซ็นทารา สคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น สมาชิเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนภาคอีสานตอนบน 11 จังหวัด กว่า 200 คน สวมชุดสีดำ นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้อ่านแถลงการณ์แสดงอารยะขัดขืนและคัดค้านการใช้นโยบายผลตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน ระหว่างที่มีการประชุมโครงการผู้บริหารพบบุคลากรสาธารณสุข ประจำปี 2556 ของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.เกรียงศักด์ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุขได้สั่งการให้ชี้แจงนโยบายพีฟอร์พี แต่เพียงฝ่ายเดียวที่โรงแรมเซ็นทารา ขอนแก่น ทางโรงพยาบาลชุมชนใน 11 จังหวัด ภาคอีสานตอนบนขอแสดงจุดยืนว่า มีมติไม่เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงฝ่ายเดียว ดังกล่าว เพราะจะทำให้นำไปแอบอ้างว่ายอมรับนโยบาย และเครือข่ายฯสนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชนกลับไปใช้ระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดิมหากยังดื้อรั้นจะยื่นอุทธรณ์ยังบ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เพื่อไล่ นพ.ประดิษฐ์ ออก ไปจากกระทรวงให้จงได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 21 พฤษภาคม 2556
- 4 views