สหภาพฯ ชี้แผนบันได 3 ชั้น ปลด “หมอวิทิต” รวบรัดแปรรูป อภ.ผนึกเครือข่ายไฟฟ้า-ประปา แพทย์ชนบทร่วมวงไล่บอร์ด เดินหน้าค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นัด 28 พ.ค.ตั้งเวทีถล่ม
กรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการรองการเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) ตามข้อกล่าวหาบกพร่องต่อหน้าที่กรณีพบความผิดปกติในการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบของ อภ.รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก และการสร้างโรงงานผลิตด้านไวรัสเอดส์ล่าช้า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า รู้อยู่แล้วว่าบอร์ด อภ.ต้องปลด นพ.วิทิตพ้นจาก อภ. เพื่อทำลายภาพลักษณ์ และเปิดทางให้กลุ่มที่ต้องการแปรรูปอภ.เข้ามาดำเนินการตามแผนการต่อไป
“ต้านอย่างไรก็ไม่อยู่ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเบื้องหลังการปลดคืออะไร สหภาพมองว่าเป็นแผนบันได 3 ขั้นในการนำไปสู่การแปรรูป อภ.” ประธานสหภาพ อภ.ระบุ
ประธานสหภาพ อภ.กล่าว บันได 3 ชั้น ที่ว่าคือ 1.ทำลายภาพลักษณ์จนขาดความน่าเชื่อถือ เพราะตอนนี้ชื่อเสียง อภ.ย่อยยับหมดแล้ว 2. เข้าแทรกแซงการทำงาน เห็นชัดจากกรณีที่แทรกแซงการจ่ายเงินบำรุงภารกิจต่างๆ ที่โรงพยาบาลสั่งซื้อยากับ อภ. โดยเปลี่ยนให้จ่ายไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตามระเบียบเงินส่วนนี้จะจ่ายสนับสนุนการสัมมนาและศึกษาดูงานต่างๆ ให้โรงพยาบาลต่างๆ เมื่อไม่มีเงินส่วนนี้จ่ายให้ โรงพยาบาลก็ไม่ซื้อยากับ อภ.ทำให้ อภ.อ่อนแอ และ 3.นำไปสู่การแปรรูป อภ.
นายระวัย กล่าวอีกว่า การดำเนินการป้องกันเพื่อไม่ให้ อภ.ถูกแปรรูป เพราะพันธกิจของ อภ.คือ การดูแลพี่น้องประชาชนให้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ หากมีการแปรรูปจะคิดถึงแต่เรื่องกำไร ขาดทุน โดยขณะนี้สหภาม อภ.ได้เข้าร่วมกับเครือข่ายไฟฟ้า ประปา เพื่อชาติและประชาชน กลายเป็นเครือข่ายไฟฟ้า ประปาและยาเพื่อชาติและประชาชน รวมถึงร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจในการเดินหน้าคัดค้านและป้องกันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เวลา 09.00 น. จะมีการจัดเวทีวิเคราะห์วิพากษ์เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น อภ.และชี้ให้เห็นว่าเส้นทางที่ถูกปูไว้เพื่อการแปรรูปเป็นเช่นไร
“กระบวนการทั้งหมดนี้ ภาพก็ชัดเจนในฐานะที่เราเป็นคนดูว่าเป็นบันได 3 ขั้นที่ต้องการนำไปสู่การแปรรูป อภ.แปรรูประบบยาของประเทศซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของการแปรรูปเหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แต่สหภาพจะคัดค้านทุกรูปแบบไม่ให้มีการแปรรูป และยังขอยืนยันเช่นเดิมว่าบอร์ด อภ.ชุดนี้ต้องลาออกยกชุด เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องภาพลักษณ์อภ.ในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวให้ร้ายอภ.” นายระวัยกล่าว
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวนการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากเดิมที่กลุ่มแพทย์ชนบทประท้วงและต่อต้านการปรับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นจ่ายตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี มาโดยตลอด แต่ต่อไปนี้ทางกลุ่มจะเอากรณีจากปลด นพ.วิทิต เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในสาเหตุของการประท้วงด้วย เนื่องจากการปลดผอ.อภ.จะมีผลกระทบต่อโรงพยาบาลชุมชนแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยา
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า กลุ่มแพทย์ชนบทจะมีการเคลื่อนไหวร่วมกับสภาพ อภ.ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ โดยในส่วนของกลุ่มแพทย์ชนบทจะมี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นแกนนำว่าจะเคลื่อนไหวในรูปแบบใดและที่ไหน อย่างไรก็ตามขณะนี้กลุ่มแพทย์ชนบทได้ทำการจัดตั้งชมรมภายใต้ชื่อ “ชมรมเครือข่ายผู้พิทักษ์ระบบสุขภาพชุมชนเพื่อประชาชนแห่งประเทศ” เพื่อดูระบบสาธารณสุขของไทย
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การปลด นพ.วิทิต เปรียบเสมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง อภ. ทั้งที่ นพ.วิทิตได้ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตยาพาราเซตามอลและความล่าช้าของการก่อสร้างโรงงานวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ซึ่งความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ระหว่างการก่อสร้างนั้นก็ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมและภาวะขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นความล่าช้าจึงยังไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
“ผมอยากให้บอร์ด อภ.ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในการะทรวงทบทวนตัวเองว่าทำถูกต้องหรือไม่หมอวิทิต เอาตัวเข้ามารับใช้ประเทศ บอร์ดอภ.ทุกคนต่างรู้จักหมอวิทิตดี อย่าทำเพียงเพราะหวงเก้าอี้หรือรับใช้การเมืองเท่านั้น” นพ.วชิระกล่าว
นพ.วชิระ ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีชมรมแพทย์ชนบท ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกระทรวงสาธารณสุขกรณีการสั่งซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดโดยแตกให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ทั่วประเทศที่อาจส่อทุจริตว่า ดีเอสไอ นัดให้แพทย์ชนทบเข้าชี้แจ้งและให้ข้อมูลต่อกรณีทีเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
ด้าน ผศ.ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปรากฎต่อสาธารณะนั้นยังไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้คือ อภ.กำลังสั่นคลอน และอาจกระทบต่อระบบวจัดยาของประเทศ
“ค่อนข้างเชื่อว่าคำสั่งของฝ่ายการเมืองสิทธิเข้ามาล้วงลูกในหน่วยงาน ซึ่งเท่ากับว่า อภ.กำลังถูกท้าทายไม่ใช่แค่เพียงการสรรหายา แต่ยังรวมถึงการเจรจาเขตการค้าเสรี การทำเมดิคัลฮับและการจ่ายค่าตอบแทนแบบ พีฟอร์พี หรือจ่ายตามภาระงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องจับตามมอง” ผู้จัดการแผงงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยากล่าว
ด้าน นพ.วิทิต กล่าวว่า พยายายามอธิบายหลายครั้งแล้วว่าเรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลนั้นเป็นการตัดสินใจในภาวะน้ำท่วมเป็นหลัก และเตรียมขั้นตอนในการดูแลวัตถุดิบเอาไว้แล้ว โรงงานก็เสร็จ เครื่องจักรก็มีวัตถุดิบเอาไว้แล้ว โรงงานาก็เสร็จ เครื่องจักรก็มีวัตถุดิบก็ยังไม่หมดอายุ ถึงแม้ว่าเปิดถังออกมาจะมีการปนเปื้อนบ้างก็เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบคุณภาพที่ต้องรีเจ็กท์ออกไป แล้วเปลี่ยนอันใหม่มา ถือว่าเป็นกระบวนการปกติ ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เป็นประเด็น แต่ก็มีการเอามาเป็นประเด็น เอามาพูดจนเป็นเรื่องเป็นราวและนำมาสู่ความชอบธรรมในการปลด
“ก็ถือว่ามีธงที่จะปลดอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนจะเป็นเกมการเมืองหรือไม่นั้นก็ยังไม่ชัดเจน ไม่ขอพูด แต่สังคมคงมองแล้วเห็นว่ามันใช่หรือเปล่า ส่วนคนมาแทนผมไม่ทราบว่าจะเป็นใคร แต่คงหาได้เร็วเพราะจัดการเรื่องของผมเขาจัดการได้เร็วมาก เรื่องหาคนมาแทนยิ่งเร็วมาก ยิ่งไม่ยาก เมื่อเขาเป็นนายจ้างแล้วเขาอยากได้อย่างนี้ เราเป็นลูกจ้างก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้าง” นพ.วิทิต กล่าว และวันที่ 20 พฤษภาคม อาจปรึกษากับทีมทนายความเกี่ยวกับเรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรม
นายสัมศักดิ์ โตรักษา ทนายความ นพ.วิทิต กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะคุยกับ นพ.วิทิต อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเท่าที่ดู นพ.วิทิต มีหลักฐาน มีเหตุผลชี้แจงได้หมดอย่างที่ระบุเรื่องความล่าช้า ถ้าความล่าช้านั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและมีเหตุผล คงไม่ถึงขั้นที่ว่ามีเจตนาทำให้รัฐเสียหาย
“ถ้าได้เอกสารหลักฐานแล้ว นพ.วิทิต มาปรึกษา คงดูแนวทาง หรือสิทธิจะเรียกร้องอย่างไรบ้าง เช่น อาจฟ้องศาลปกครอง หรือฟ้องคดีอาญา เพราะการปลด นพ.วิทิต ไม่น่าจะชอบธรรม ดังนั้นก็สามารถเรียกร้องได้ ถ้าเอาเหตุผลแค่นี้มาอ้างเพื่อต้องการปลด ต่อไปการปลดผู้บริหารออกจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ทำได้ง่าย” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับ นพ.วิทิต เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2499 เข้ารับตำแหน่ง ผอ.อภ. ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม พ.ศ 2550 จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ พ.ศ.2525-2526 จากนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรอน จ.อุตรดิตถ์ พ.ศ.2526-530 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จ.สมุทรสาคร ระหว่าง พ.ศ.2530-2550
ผลงานในอดีตเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลชุนชนดีเด่น กระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.2537 รางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น และ อาจารย์พิเศษดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลพระราชทานมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ปี พ.ศ.2540 โครงการนำร่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งอำเภอ เป็นแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 ประสบผลสำเร็จในการปฏิรูประบบราชการโดยเปลี่ยน รพ.บ้านแพ้ว มาหริหารในรูปแบบองค์การมหาชน เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเกียรติบัตรเชิดชูเกียรตินักบริหารโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2550
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 19 พฤษภาคม 2556
- 5 views