ดีเอสไอสรุปสำนวนโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนก ส่งป.ป.ช.ไต่สวนความผิดอาญานพ.วิทิต 2 ข้อหา 3 ประเด็น แบ่งซื้อแบ่งจ้าง เปลี่ยนจากวัคซีนเชื้อตายเป็นชนิดเชื้อเป็นโดยไม่ขออนุมัติครม.และบริหารสัญญาผิดพลาดทำให้งานก่อสร้างล่าช้า "หมดวิทิต" เคลียร์ 3 ข้อกล่าวหาดีเอสไอยันความล่าช้าไม่ใช่ความผิด
หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้มูลนพ.วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) และนพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.) อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกรณีจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลและได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และล่าสุดดีเอสไอสรุปสำนวนเพิ่มอีกชี้มูลความผิดโรงงานวัคซีนไข้หวัดนกส่งป.ป.ช.ไต่สวนความผิดอาญาเพราะเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูล
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.)ว่าได้ลงนามสรุปความเห็นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับคดีไว้ไต่สวนแล้วซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการกระทำของนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.เข้าข่ายกระทำความผิดอาญา 2 ข้อหา คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบให้นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ร้องให้รับทราบอย่างไรก็ตาม ประเด็นการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนของ อภ.ยังมีรายละเอียดอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอ ส่วนผลตรวจสอบของดีเอสไอจะส่งผลกระทบถึงการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งผอ.อภ.หรือไม่นั้นเป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ดีเอสไอมีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น
สำหรับสาระสำคัญของความผิดเกี่ยวกับโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกที่ดีเอสไอตรวจสอบพบมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กรณีแบ่งซื้อแบ่งจ้าง โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของการออกแบบที่มีการขยายวงเงินจากเดิมที่สำนักงบประมาณอนุมัติเพียง 8 ล้านบาทแต่ผอ.อภ.ใช้งบประมาณสูงถึง 20 ล้านบาท ซึ่งหลังมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณแล้วจึงมีการแบ่งสัญญาออกเป็น 4 สัญญา เข้าข่ายเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกีดกันผู้เข้าแข่งขันราคาโดยไม่เป็นธรรม
ส่วน 2.โครงการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเชื้อตายซึ่งเป็นมาตรฐานระดับ 2 ขององค์การอนามัยโลก แต่ผอ.อภ.ได้เปลี่ยนเป็นการผลิตทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับ 2+ ขององค์การอนามัยโลกโดยไม่ได้กลับไปขอความเห็นชอบจากครม.อีกครั้ง และประเด็นสุดท้าย คือ การบริหารสัญญาล่าช้าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสัญญา ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
ชี้ความผิดไม่ถึง"หมอวิชัย"
นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการบริหาร อภ.ขณะที่มีการอนุมัติโครงการก่อสร้างซึ่งมีนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นอดีตประธานบอร์ดอภ.นั้น ผลการตรวจสอบของดีเอสไอไม่พบว่าบอร์ดกระทำความผิดใดๆ เนื่องจากในรายงานการประชุมทุกครั้ง จะมีการสอบถามและติดตามความคืบหน้าของโครงการอยู่ตลอด บอร์ดจึงไม่มีความผิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
หมอวิทิต"มั่นใจเคลียร์ได้ทั้ง 3 ข้อหา
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.ชี้แจงกรณีดีเอสไอสรุปความเห็นส่งให้ ป.ป.ช.ว่า ในประเด็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดสูงความจริงได้ส่งเอกสารให้ดีเอสไอไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา มั่นใจว่าชี้แจงได้ว่าทำไมงบประมาณ 8 ล้านบาทกลายเป็น 20 ล้านบาท มันมีหลายตัวเลข ต้องชี้แจงที่มาที่ไป สุดท้ายอยู่ที่ 9 ล้านกว่าบาทและจาก 10 บริษัทเหลือ 4 บริษัทเข้ามาช่วยกัน ทั้งหมดมีรายละเอียดไม่ควรตอบทางโทรศัพท์ ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมีการเปิดซองทุกหลัง
เมื่อถามว่า ดีเอสไอชี้ว่ามีการเปลี่ยนมาตรฐานโรงงานจากระดับ 2 เป็น 2+โดยไม่ขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกครั้ง นพ.วิทิต กล่าวว่า เรากำลังจะนำเสนอเข้า ครม.อยู่นี่ไง ที่เราดำเนินการว่าจะขอยกระดับโรงงานเป็น 2+โดยมีการใช้งบประมาณเพิ่มอีก 45 ล้านบาท ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ความปลอดภัยของประเทศสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งกรณีที่มีการระบาดใหญ่ ทั้งหมดนี้เรากำลังจะเสนอเข้าคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.) ทราบในวันที่ 17 พ.ค.นี้ เนื่องจากแนวโน้มบริษัทตอบรับที่จะก่อสร้างต่อ เมื่อผ่านบอร์ด อภ.แล้วจะนำเสนอ รมว.สาธารณสุข หลังจากนั้นก็จะนำเข้า ครม.นี่ไงกำลังจะเข้า ครม.เอกสารที่มอบให้ดีเอสไอก็เขียนชัดเจนว่ากำลังจะนำเสนอ ครม.แต่ก็มีการกล่าวหาทันที
ผอ.อภชี้"ล่าช้า"ไม่ใช่ความผิด
นพ.วิทิต ยังได้ชี้แจงประเด็นการบริหารสัญญาล่าช้าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสัญญาว่าองค์กรภาครัฐโดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่ล่าช้าเยอะไปหมด กระทรวงอื่นตนไม่ทราบ ดังนั้นเรื่องล่าช้าที่มีสาเหตุไม่ใช่ความผิด เราทำเพื่อให้โครงการมีความปลอดภัยมั่นคงคิดว่าเป็นความรอบคอบ เพราะโครงการเทคโนโลยีที่ซับซ้อนดังนั้นก็ต้องให้ผู้ที่อยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมได้พิจารณาละเอียดกว่านี้ ตนยินดีไปให้การ ป.ป.ช.หรือศาล
เมื่อถามว่า เหนือความคาดหมายหรือไม่ที่ดีเอสไอชี้มูลนพ.วิทิต กล่าวว่า ตั้งแต่กรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลก็ไม่คิดว่าเหนือความคาดหมายคิดว่าต้องโดนเรื่องนี้แน่นอน ถ้าสิ่งที่ดีเอสไอแถลงวันนี้มีประเด็นเพียงเท่านี้ยืนยันว่าชี้แจงได้และได้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว
ทนายความ มั่นใจชี้แจงได้
ด้าน ดร.สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของผอ.อภ.กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอสรุปความเห็นกรณีโรงงานวัคซีนให้ ป.ป.ช.อาจเข้าข่ายกระทำความผิด 2 ข้อหาว่า ถ้าหมอมาปรึกษาคงจะให้คำแนะนำว่าต้องเตีรยมตัวนำข้อเท็จจริงไปชี้แจงต่ออนุกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป ตอนนี้ก็ต้องรอก่อนว่า ป.ป.ช.จะมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้สมควรจะรับหรือไม่รับอย่างไร เมื่อรับเรื่องแล้วต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แล้วตัวหมอจะคัดค้านหรือไม่ถ้าไม่คัดค้านตอนนี้ก็จะใช้ระบบไต่สวนต่อไป ตัวหมอก็ต้องเตรียมข้อเท็จจริงนำเสนอ ป.ป.ช.อีกครั้ง เอาพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ ประกอบด้วยพยานบุคคลพยานเอกสาร พยานวัตถุไปชี้แจง บริษัทที่เกี่ยวข้องเอาไปให้ ป.ป.ช.ทั้งหมด
เมื่อถามว่าเท่าที่ดูเอกสารหลักฐานหนักใจหรือไม่ ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาไม่หนักใจ เพราะว่าจากข้อเท็จจริงที่ได้ดู 1.ไม่ได้มีการทุจริต 2.ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ อีกทั้งใช้งบประมาณต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้และเป็นอำนาจที่ทำได้ และทำโดยชอบมีกฎหมายรองรับ และยังทำเพื่อประโยชน์ของรัฐกรณีโรงงานที่ต้องแยกเป็น 4 สัญญาก็เพื่อความรวดเร็ว เพราะโรงงานล่าช้ามีสาเหตุ เช่น ฐานรากต่อหม้อ น้ำท่วม ดีไซน์ ริวิว บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง เมื่อสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็นก็คือว่าโดยหลัก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหา
ต่อข้อถามว่ากรณีที่ดีเอสไอสรุปความเห็นเหนือความคาดหมายหรือไม่ ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่หรอก ดีเอสไอมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเข้าสู่ ป.ป.ช. ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจที่ชอบ ระมัดระวังและต้องฟังพยานทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญยังถือว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์อยู่ยังไม่ผิด แต่เมื่อถูกกล่าวหาก็ได้รับความเสียหายแล้ว คงต้องดูว่า ป.ป.ช. จะชี้ว่ามีมูลหรือไม่มีมูลแต่เชื่อมั่นว่ากรณีนี้ชี้แจงได้ ไม่รู้สึกหนักใจ
ลือบอร์ดอภ.ปลด"หมอวิทิต"
ส่วนการประชุมคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 โดยมีกรแสข่าวว่าจะมีวาระการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หลังจากที่ถูกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ชี้มูลความผิดการกระทำอาจเข้าข่ายความผิด
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า ขอให้แสดงหลักฐานให้ชัดเจนว่า ตนใช้อำนาจอย่างไรเพราะตนมีหน้าที่ให้นโยบายให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) พิจารณา ส่วนบอร์ดก็มีคณะกรรมการสอบสวน ทำงานไปตามขั้นตอนไม่ว่าบอร์ดจะพิจารณอย่างไรต้องมีหลักฐานเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธาน บอร์ด อภ.กล่าวว่า ผลการประชุมจะออกมาในรูปแบบใด ล้วนขึ้นอยู่กับบอร์ดอภ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 พฤษภาคม 2556
- 15 views