หลังจากชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เดินหน้าคัดค้านนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือที่ เรียกสั้นๆ ว่า พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ความร้อนระอุภายในกระทรวงหมอก็เริ่มต้นขึ้น
หากนับจากวันแรกที่ความขัดแย้ง เริ่มปะทุขึ้น มาจนถึงขณะนี้ก็นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่จากการประเมินสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา กลับพบว่ายิ่งนานวันความร้อนระอุกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น และแม้ว่าเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา จะถือเป็นวันครบรอบ 1 เดือน ภายหลังนโยบาย พีฟอร์พีถูกประกาศใช้ทั่วประเทศ แต่ทว่าโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ซ้ำร้ายยังกลับตรงกันข้ามเดินหน้าประกาศอารยะขัดขืน พร้อมทั้งยกระดับการต่อต้านเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากโรงพยาบาลใด ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่มีหลักฐานมาเบิกเงิน ค่าตอบแทนส่วนนี้
ทั้งนี้ ถ้าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ที่ทางชมรมแพทย์ชนบทรุกฮือขึ้นมาต่อต้านนโยบายพีฟอร์พี พบว่าเริ่มแรกมีการพุ่งเป้าไปที่แนวคิดและตัวนโยบาย ของทางฝ่าย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยพังทลาย เนื่องจากการปรับจ่ายค่าตอบแทนโดยวัดตามผลการปฏิบัติงานนั้น ไม่สอดคล้องกับบริบทการรักษาของโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งการตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่จ่ายให้แพทย์ที่ยอมทำงานอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนจูงใจการทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัด จะทำให้แพทย์ขาดขวัญกำลังใจ
นพ.เกรียงศักดิ์ บอกว่านอกจากระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน จะไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน การยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน ที่จะถูกยกระดับเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ยังถือเป็นการตัดขวัญกำลังใจ ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้แพทย์รู้สึกไม่มั่งคงในอาชีพ พากันลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันหมด จึงน่าสังเกตว่านี่เป็นหนึ่งในการเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่
และหากย้อนดูนโยบายของ นพ. ประดิษฐ ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งรมว.สธ.ช่วงแรก โดยเฉพาะความต้องการเข้ามาปรับปรุงและยกระดับการบริหารงานภายใน สธ.ให้ดีขึ้น ด้วยการนำเอาระบบการบริหารงาน และการทำงานแบบเอกชนมาประยุกต์ใช้ในระบบราชการ ประกอบกับการเดินหน้าสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งธงขึ้นมาโจมตี โดยชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่า ผลกระทบจากการที่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนลาออก และพากันไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ถือเป็นแผนการขั้นแรกในการดึงบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนนโยบาย เมดิศัลฮับรองรับการเปิดเออีซี ใช่หรือไม่
ขณะที่ นพ.ประดิษฐ ออกมาปฏิเสธต่อข้อสังเกตดังกล่าวทันทีว่าเป็นการพูดที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบอกว่าตนถือหุ้นโรงพยาบาลเอกชน และประกาศนโยบายพีฟอร์พี เพื่อให้แพทย์ใน โรงพยาบาลชุมชน ไหลไปอยู่เอกชน ไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่าการปรับจ่ายค่าตอบแทน เป็นแนวคิดเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ และการบริการทางการแพทย์ให้ดีมากขึ้น ข้อขัดแย้งระบบพีฟอร์พียิ่งรุนแรง มากขึ้น เมื่อความพยายามในการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข จากทางฝ่ายผู้บริหารที่ต้องการตั้งคณะกรรมการด้านสุขภาพขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อกลั่นกรองนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ได้ถูกตีความว่า นพ.ประดิษฐ กำลังพยายามรวบอำนาจหน่วยงาน สธ.ให้กลับมาอยู่ใต้อาณัติ โดยเฉพาะหน่วยงานตระกูล ส. จนเกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในแวดวงสุขภาพ ถึงขั้นมีแพทย์ ผู้ใหญ่หลายๆ คน ออกมาโจมตีแนวคิดนี้
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงในครั้งนี้ ตนไม่อยากให้มองว่าเป็นความพยายามรวมอำนาจจากฝ่ายบริหาร แต่อยากให้มองว่าเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ สธ. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า ระหว่างที่ความขัดแย้งเริ่มบานปลาย กระแสข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ก็เริ่มถูกพูดถึง และมีการนำเสนอตามหน้าสื่อมากขึ้น หลังจากโรงงานเภสัชกรรมทหารตรวจพบ ว่า วัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ที่ขอซื้อมาจาก อภ.ปนเปื้อน จนมีการขยายผลและตั้งข้อสังเกตว่า อภ.นำเข้าวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาเก็บสำรองไว้เป็นเวลานานหรือไม่ จนร้อนถึง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัช ต้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง ประจวบเหมาะกับที่กรณีความล่าช้าในการก่อสร้าง โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ซึ่งถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อสร้างในครั้งนั้น ก็ถูกขุดขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจาก นพ.ประดิษฐ มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการของตน ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบทั้ง 2 กรณี
จุดนี้ทำให้หลายคนมองว่า ฝ่าย ผู้บริหาร สธ. กำลังพยายามตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ เพราะในแวดวงเป็นที่ทราบดีว่า นพ.วิชัย ถือเป็นพี่ใหญ่แพทย์ชนบท อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้หรือไม่
นพ.วิชัย บอกว่า การที่กระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอ ให้เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และปมนำเข้าวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลนั้น เป็นการโยงทั้งสองเรื่องเข้าหากัน เพื่อต้องการเอาผิดกับตน ทั้งที่การ
แยกสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนเป็น 4 ฉบับ ถือเป็นเรื่องปกติมาก ต้องมองดูในความเป็นจริงว่า การสร้างโรงงานผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลกระดับ 2 บวก ไม่ใช่เรื่องง่าย
ปมการยื่นหนังสือถึง ดีเอสไอ อาจจะถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็ว่าได้ เพราะทำให้กลุ่มเครือข่ายต่อต้าน นพ.ประดิษฐ รวมตัวรุกฮืออีกครั้ง โดยการประท้วงล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านผู้บริหาร สธ. ไม่ได้มีเพียงแค่ชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มวิชาชีพ โรงพยาบาลชุมชนเท่านั้น หากยังมีกลุ่มสหภาพองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และเครือข่ายคุ้มครอง ผู้บริโภคด้านสาธารณสุข กว่า 400 คน ตั้งเวทีปราศรัยโจมตีผู้บริหาร สธ. อย่างดุเดือด
โดยนพ.อารักษ์ ฐานะแกนนำเครือข่ายต่อต้าน นพ.ประดิษฐ ได้ให้สัมภาษณ์แลกหมัด ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ต่อต้านการบริหารงานภายใต้การนำของ นพ.ประดิษฐ และชมรมแพทย์ชนบท กำลังจะก้าวข้ามประเด็นพีฟอร์พี แต่จะหันมารวบรวมข้อมูล เพื่อเปิดโปงการทุจริตทั้งโดยตรงและทุจริตเชิงนโยบายของฝ่ายบริหารบ้าง โดยเฉพาะการรวบอำนาจเพื่อจัดสรรเงินจากส่วนกลางลงไปซื้อเครื่องตรวจเบาหวานให้กับกลุ่ม อสม.วงเงินกว่า 114 ล้านบาท ทั้งที่โรงพยาบาลต่างๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องดังกล่าว
ขณะที่ความขัดแย้งยังคงชุลมุน โดยทั้งสองฝ่ายต่างหยิบประเด็นทุจริต และการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสขึ้นมาสาดใส่กัน ทำให้ศึกในสธ.ครั้งนี้ คงเป็นหนังเรื่องยาว ที่สังคมต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วข้อขัดแย้งต่างๆ จะนำไปสู่การบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพต่อประชาชนได้หรือไม่...
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 พฤษภาคม 2556
- 5 views