ภายหลังจากที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้เข้าไปตรวจสอบ กรณีความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม โดยได้มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือนั้น
ล่าสุด นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม ซึ่งถือเป็นบุคคลหลักในการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ยืนยันว่า องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการก่อสร้างอย่างถูกต้องตามขั้นตอน และไม่ได้มีการทุจริตอย่างที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้
นพ.วิชัย เริ่มต้นชี้แจงถึงเหตุผลในการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทออกแบบถึง 4 บริษัท ซึ่งขณะนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดต้องแบ่งสัญญาออกเป็นหลายฉบับ ว่า เนื่องจากขณะนั้นเวลาในการดำเนินโครงการค่อนข้างเร่งรัดมาก และทางองค์การได้มีการเชิญบริษัทออกแบบเพื่อที่จะมาแจ้งว่าให้มาช่วยออกแบบให้ แต่ปรากฏว่าไม่มีบริษัทไหนที่บอกว่าจะสามารถออกแบบคนเดียวได้ เพราะเวลามันจำกัดมาก เนื่องจากว่ามันเป็นช่วงที่ต้องทำให้เสร็จในปีงบประมาณ ในที่สุดก็ได้บริษัท 4 บริษัทที่จะออกแบบและอยู่ในวงเงินเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น จากที่ตั้งไว้เดิม 20 ล้านบาท
ในส่วนนี้เป็นเรื่องการทำรายละเอียดการออกแบบ ก่อนที่จะทำรายละเอียด การออกแบบก็ต้องทำคอนเซปต์ซวลดีไซน์ และเบสิกดีไซน์ ซึ่งมันใช้เวลาไปเยอะ เนื่องจากว่าเทคโนโลยีมันซับซ้อนและ ไม่มีใครมีความรู้จริง
"เราก็เชิญผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานกับบริษัทผลิตวัคซีนมาตลอดชีวิตมาช่วยออกแบบ ซึ่งต้องใช้เวลา และกว่าที่จะต้องให้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ความเห็นชอบ ทาง อย. ก็ต้องเรียนรู้เพราะยังไม่เคยมีความรู้เรื่องโรงงานผลิตวัคซีน เลยต้องใช้เวลา ทำให้เวลาในการออกแบบรายละเอียดมันเหลือสั้นลง เพราะฉะนั้นการออกแบบ 4 บริษัทที่เป็นข่าวนั้นสรุปแล้วไม่มีอะไร" นพ.วิชัย กล่าว
สำหรับประเด็นที่มีการนำเสนอการประมูลเพียงบริษัทเดียวนั้น นพ.วิชัย บอกว่า เรื่องนี้บอร์ดจำได้ว่าวงเงินอยู่ในอำนาจบอร์ดมันไม่ใช่อำนาจของผู้บริหาร เรื่องจึงต้องนำเรื่องเข้าบอร์ดซึ่งก็แจ้งไว้หมดแล้วว่า ถึงแม้เป็นบริษัทเดียวแต่ไม่สมควรที่จะยกเลิก เพราะการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในขณะที่อีกสัญญาหนึ่ง 4 อาคาร เราได้ผู้รับจ้างแล้ว แต่ถ้ารออีก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็จะมีปัญหา มันก็จะล่าช้าออกไปอีก
นอกจากนี้ความเร่งด่วนของโครงการเนื่องจากไม่รู้ว่าจะเกิดโรคระบาดเมื่อไหร่ ดังนั้นก็ต้องรีบทำซึ่งเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะพิจารณา ขณะเดียวกันตอนที่เริ่มการเสนอให้มีผู้เสนอราคาก็มีหลายบริษัทที่มาซื้อซอง แต่ว่าในข้อเท็จจริงมีผู้มายื่นเพียงรายเดียว สำหรับบริษัทที่เหลือที่ไม่มายื่นการประกวดราคานั้น ได้ให้เหตุผลทั้งหมด 4 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเทคนิคและจะกระทบการก่อสร้างที่ทางบริษัทคิดว่าไม่พร้อมที่จะรับสภาพนี้ได้
เขาบอกว่า ในส่วนราคาในการดำเนินการที่ทางบริษัทเสนอมานั้น ก็เสนอมาในราคากลาง แต่ปรากฏว่าจำนวนเงินมันเกินวงเงิน ที่สำนักงบประมาณจัดสรรเกินวงเงินไปประมาณ 16 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดเองก็ไม่ตัดสินใจที่จะเอาตามที่เสนอก็มีการมอบหมายให้ตน และ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ไปต่อรองให้อยู่ในกรอบวงเงิน นอกจากนี้ในมติคณะรัฐมนตรีก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้มีบริษัทเดียวก็ให้ทำได้ถูกต้องตามระเบียบ ส่วนความล่าช้าของการก่อสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดนั้น อย่างที่บอกไป ว่ามีสาเหตุสำคัญอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1.ความล่าช้าเกิดขึ้นเนื่องจากการปรับปรุงฐานรากของตัวโรงงานซึ่งมันเป็นความจำเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือซึ่งเป็นที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างโครงการได้แนะนำว่ามีความเสี่ยงซึ่งต้องปรับฐานรากและยกพื้น ถ้าจะสร้างไปโดยมีความเสี่ยงก็ไม่ควรทำ
"เราจะดันทุรังสร้างไปทำไมในเมื่อที่ปรึกษาคุมงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือบอกว่ามีความเสี่ยง ถ้าเราจะสร้างไปโดยมีความเสี่ยงก็ไม่มีใครทำ" นพ.วิชัย กล่าว
เหตุผลที่ 2 เหตุผลความจำเป็นเรื่องน้ำท่วมเมื่อปี 2553 ซึ่งทางบริษัทก็ขอขยายระยะเวลามาประมาณ 180 วัน ทาง อภ.ก็ให้ขยายระยะเวลาไปได้จำนวนหนึ่งแต่ไม่ถึง 180 วัน ส่วนเหตุผลที่ 3 คือ การทบทวนการออกแบบ (review design) ซึ่งจำเป็นต้องทำและถ้าไม่ทำแล้วก่อสร้างตามแบบที่ความรู้ ณ ขณะนั้น และต่อมามีความรู้ว่าต้องมีการปรับปรุงความรู้มันเพิ่มขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันเหตุการณ์ของโรคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีพลวัตสูง ทาง อภ.ก็ต้องติดตามเพื่อให้โรงงานออกมาต้องทันสมัยหรือว่าดีเท่าที่จะทำได้
"การออกแบบดีเทลดีไซน์มันไม่สามารถที่จะบอกดีเทลทุกอย่างได้ เนื่องจากว่ามันจะต้องไปประกอบกับเครื่องจักรและเครื่องมืออีกหลายอย่าง เราก็ไม่รู้ว่าเครื่องจักรเครื่องมือมันก็ประมูลมาเป็นช่วงๆ ตามงบประมาณที่ได้มา เครื่องมือแต่ละชิ้นแม้เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันแต่ก็มีขนาดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทบทวนแบบ แต่เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ต่างๆ จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวมาก ประมาณกว่า 700 วัน ก็ทำให้ช้าออกไปและเป็นเรื่องที่ไม่มีใครไปควบคุมมันได้ องค์การกรรมการหรือกรรมการจะไปควบคุมว่าจะต้องให้อยู่ในเวลามันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่นอกการคำนวณ" นพ.วิชัย ระบุ
และเหตุผลที่ 4 คือ บริษัทร่วมทุนของเกาหลีที่เชี่ยวชาญในการผลิตวัคซีนในประเทศเกาหลี และได้มาร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ขอถอนตัวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำให้ทาง อภ.ต้องมาหาที่ปรึกษารายใหม่และได้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาแทน ทำให้เวลามันต้องยืดออกไป
"ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นเหตุผลที่ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยสำหรับประเทศไทย ซึ่งความรู้เรามีแค่นี้" นพ.วิชัย กล่าว
เขายืนว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติชัดเจนว่าเป็นโครงการก่อสร้างโรงงานไข้หวัดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดนก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด เรื่องการผลิตวัคซีนในรูปแบบเชื้อเป็นหรือเชื้อตายนั้นมีมาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งเดิมตั้งใจผลิตเชื้อตายเพียง 10 ล้านโด๊สต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 1 ล้านโด๊ส และหากเกิดการระบาดนั้นเวลาทองคือช่วง 6 เดือน จากการระบาดระลอกแรกและระลอกที่สอง แต่ก็ผลิตได้เพียง 4-5 ล้านโด๊สเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเทคโนโลยีให้ผลิตเชื้อเป็นได้ในระยะเวลาอันสั้นด้วย
สำหรับการปรับเปลี่ยนโรงงานให้มีความปลอดภัยชีวนิรภัยจากระดับ 2 เป็น ระดับ 2 บวกนั้น นพ.วิชัย อธิบายว่า ในช่วงแรกของการก่อสร้างโรงงานวัคซีนนั้น ทางผู้เชี่ยวชาญระดับโลก 3 คนได้แนะนำให้ก่อสร้างโรงงานวัคซีนที่มีความปลอดภัย ชีวนิรภัยที่ระดับ 2 แต่ต่อมามีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งมีความรุนแรงมาก ทางองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ว่าควรเพิ่มความปลอดภัยชีวนิรภัยของโรงงานเป็นระดับ 2 บวก
เขาอธิบายต่อว่า เมื่อเอาเชื้อมาทำวัคซีนก็ต้องเตรียมไว้ก่อนเลยว่าอาจรุนแรงถึงตายเราก็ต้องประกันความปลอดภัยให้กับคนที่อยู่ในโรงงานและรอบๆ โรงงาน หลังจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระบาด องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า ควรใช้ระดับความปลอดภัยชีวนิรภัยของโรงงานที่ 2 บวก ในระหว่างที่เราติดตามความก้าวหน้าอยู่นั้น โรงงานก็อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและปรับอยู่ในระดับ 2 บวกได้ เราก็ต้องทำ เราไม่ทำไม่ได้ถ้าไม่ทำผิด เพราะฉะนั้นที่ไปโทษว่า เปลี่ยนเชื้อตายเป็นเชื้อเป็นหรือระดับ 2 เป็น 2 บวก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็น" นพ.วิชัย กล่าว
"ในส่วนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมนั้น ผมเชื่อมั่นว่าทาง อภ.สามารถชี้แจงได้ และมั่นใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริต ในสมัยที่เป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และกล้ายืนยันได้ แต่ก็เป็นห่วงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะกระทบกับองค์การเพราะว่าเขาไม่ได้เป็นอันทำงาน เพราะต้องไปชี้แจงตลอด ไม่ได้พัฒนา โดนข่มขู่ โดนปล่อยข่าวตลอด ทำนองเสียๆ หายๆ เราก็อยากที่จะมารับฟัง และอย่างน้อยมาให้กำลังใจ อาจจะให้ข้อคิดแนวคิดต่างๆ หากมีอะไรที่จะต้องมาสอบถาม เราก็จะดูว่าสนับสนุนได้หรือเปล่า"
อดีตประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม ย้ำว่า เบื้องต้นได้ให้คำแนะนำแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ว่า เรายืนตัวตรงไม่ต้องกลัวเงาคด ผมเชื่อในความสุจริต เชื่อในความสามารถ และเชื่อในการทุ่มเทของ นพ.วิทิต คนอย่างนี้หาได้ยากในประเทศไทย ประสบความสำเร็จมากในการสร้างองค์การขึ้นมา จากยอดขายพันกว่าล้านเป็นหมื่นล้านทำไว้มากมาย คนอย่างนี้ต้องคารวะต้องชื่นชม ไม่ใช่มาเหยียบย่ำทำลาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 เมษายน 2556
- 9 views