ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ "เอช 7 เอ็น 9" (H7N9 Bird Flu) อาละวาดคร่าชีวิตมนุษย์ครั้งแรกในจีน เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 125 คน เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 27 คน แหล่งแพร่ระบาดเริ่มจากเซี่ยงไฮ้ก่อนกระจายไปอีกจาก 7 มณฑลกลายเป็น 31 มณฑล และแพร่กระจายไปยังไต้หวันด้วย โดยผู้ป่วยชายวัย 53 ปี ติดเชื้อตัวนี้หลังเดินทางกลับเมืองซูโจวของจีนได้เพียง 3 วัน

สิ่งที่สร้างความแปลกประหลาดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสไข้หวัดนก คือ สัตว์ปีกที่ตรวจพบว่าเป็นตัวการเผยแพร่เชื้อ เอช 7 เอ็น 9 ไม่มีอาการป่วยหรือตาย ไม่ว่าจะเป็น "ไก่ เป็ด และนกพิราบ" พวกมันใช้ชีวิตตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้ามนุษย์ไปรับเชื้อเข้ามาเพียงไม่กี่วัน จะเกิดอาการป่วยหนักมีไข้สูงจัด เนื้อตัวปวดเมื่อยไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยหอบ หรือท้องเสียถ่ายเป็นน้ำหลายครั้งติดต่อกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

 นายเคอิจิ ฟูกุดะ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ให้สัมภาษณ์ว่า เชื้อสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ เป็นหนึ่งในไวรัสไข้หวัดนกที่รุนแรงสุด สามารถติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้ง่ายกว่าไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ที่เคยมาระบาดหนักเมื่อปี 2546-2547 จนทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 600 คน และเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 370 คน แต่โชคยังดีที่ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อตัวนี้แพร่กระจายจาก "คนสู่คน" นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อเรียนรู้วิธีการแพร่เชื้อของไวรัสร้ายตัวใหม่ เนื่องจากไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสตัวนี้มาจากไหน การกลายพันธุ์ของเชื้อส่วนไหนที่ทำให้เกิดพิษ อาการของโรค ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีรายงานการพบเชื้อ เอช 7 เอ็น 9 แต่จากบทเรียนของเชื้อหวัดนก เอช 5 เอ็น 1 ที่ทำให้ชาวไทยติดเชื้อป่วย 25 คน และเสียชีวิตไปถึง 17 คน รวมถึงการฆ่าสัตว์ปีกไปมากกว่า 25 ล้านตัวนั้น ทำให้รัฐบาลสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อตัวใหม่ทันที โดยเฉพาะ "กรมปศุสัตว์" เพื่อสามารถตรวจจับสัญญาณการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ขอให้ "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" หรือ อสม.กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ช่วยกันเฝ้าระวังทั้งในคนและสัตว์ปีก ทั้งที่อาศัยอยู่ในฟาร์มเลี้ยงรวมสัตว์ปีกธรรมชาติด้วย หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งทันที

นสพ.ธรรมนูญ ทองสุข ผู้อำนวยการส่วนโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเก็บตัวอย่าง ไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกเลี้ยง ใน 26 จังหวัดชายแดนทั่วประเทศแล้ว เช่น ตาก เชียงราย อุบลราชธานี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งหมดกว่า 1,000 หมู่บ้านห่างชายแดนไม่เกิน 5 กิโลเมตร รวมถึงสัตว์ป่าและไก่พื้นเมืองด้วย เพื่อนำมาตรวจว่าเชื้อไวรัส เอช 7 เอ็น 9 ระบาดเข้ามาถึงเมืองไทยหรือยัง

"ข้อมูลล่าสุดจากจีน พบเชื้อตัวนี้ในไก่ เป็ด และนกพิราบ แต่พวกมันไม่ป่วยไม่ตาย เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันสุ่มตัวอย่างให้ละเอียดด้วยการเก็บตัวอย่างหมู่บ้านละ 4 ตัวอย่าง เป็นอุจจาระจากไก่ฟาร์ม ไก่บ้าน เป็ด นก ฯลฯ รวมถึงนกในอุทยานแห่งชาติด้วย เมื่อต้นปีเดือนมกราคมได้สุ่มตรวจไปแล้วครั้งหนึ่งไม่พบอะไร แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของหวัดนกสายพันธุ์ใหม่ จึงต้องออกตรวจอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษ"

ขั้นตอนการเพาะเชื้อนั้น นสพ.ธรรมนูญ อธิบายว่ามี 2 วิธีคือ การตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์ เป็นการสกัดอาร์เอ็นเอจากอุจจาระของตัวอย่างที่สุ่มมา เพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ หากพบจะจำแนกต่อไปว่าเป็นยีนของ เอช 7 เอ็น 9 หรือไม่ สามารถรู้ผลได้ไม่เกิน 2-3 วัน ส่วนอีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้เวลานานประมาณ 8 วัน แต่ได้ผลชัดเจน คือ การใช้ "ไข่ฟัก" สำหรับแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ถือเป็นวิธีมาตรฐานการชันสูตรโรค หากมีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไข่ไก่ฟักจะตายภายใน 1-2 วัน จากนั้นเก็บน้ำจากไข่ไก่ฟักมาพิสูจน์เชื้อเพื่อหาว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานการพบเชื้อตัวนี้ในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า หากไม่อยากติดเชื้อไวรัสหวัดนกจากสัตว์ ให้ระมัดระวังอวัยวะ 3 ส่วน "ปาก ตา จมูก" เพราะส่วนใหญ่เชื้อไวรัสจะชอบพวกเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณใบหน้ามนุษย์ หากใครไปจับขี้ไก่หรือเอามือสัมผัสอุจจาระสัตว์ปีกที่เรี่ยราดแบบไม่รู้ตัว เสร็จแล้วไม่ล้างมือให้สะอาด พอจับอาหารเข้าปาก หรือจับจมูก จับตา เชื้อจะแพร่เข้าสู่ร่างกายทันที ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งคือ ล้างมือให้สะอาด เพราะเชื้อร้ายตัวนี้ถูกทำลายได้ง่ายเพียงแค่สบู่ล้างมือก็ไม่รอดแล้ว

ที่มา: นสพ.คมชัดลึก วันที่ 6 พฤษภาคม 2556