ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เตือนโรคระบาดต่างประเทศ ที่ไทยยังต้องเฝ้าระวัง  ทั้ง “ไวรัสมาร์บวร์ก - ไข้หวัดนก H5N1- โปลิโอ” โดยเฉพาะโรคมาร์บวร์ก ยังพบกระจุกตัวในแอฟริกา โอกาสแพร่โซนเอเชียอยู่ในระดับต่ำ

 

นอกจากโรคโควิด19 ที่ระบาดหนักทั่วโลกราว 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีโรคอื่นๆที่ประเทศไทย จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่หากเข้ามาระบาดภายในประเทศ ย่อมก่อผลกระทบไม่มากก็น้อย....

ไข้หวัดนก H5N1  ยังไม่พบในไทยเป็นเวลา 18 ปี

ล่าสุดกรมควบคุมโรค ได้ออกมาแจ้งเตือน พร้อมทั้งย้ำถึงการเฝ้าระวังของไทยในการควบคุมป้องกันโรคเหล่านี้    ภายในการแถลงข่าว “รู้เท่าทัน โรคและภัยสุขภาพ พร้อมรับมือช่วงปลายฝน”  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค  ให้ข้อมูล ว่า  โรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์ ทั่วโลก ยังพบรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลวันที่ 27 ก.ย.2567 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐ หรือ CDC รายงานพบป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 14 ราย และยังพบเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6 ราย หลังให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่ง 1 ใน 6 รายตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของไข้หวัดนก ส่วนใหญ่หายเป็นปกติ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกยังพบผู้ป่วยในกัมพูชา สะสม 10 ราย

“ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในประเทศไทย เป็นเวลา 18 ปีแล้ว หลังจากพบป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงต่างๆ สิ่งสำคัญขอให้ระมัดระวังตัว และรับประทานอาหารที่ปรุงสุก  และขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานสัตว์ปีกหรือโคที่ป่วย หรือตายผิดปกติ และหากเกษตรกร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง” พญ.จุไร กล่าว

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ยังพบกระจุกตัวในแอฟริกา

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus ) เป็นไวรัสที่คล้ายไข้เลือดออก แต่พบระบาดในแอฟริกา โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 พบที่สาธารณรัฐรวันดาครั้งแรก มีรายงานป่วย 38 ราย มีอัตราป่วยตายถึงร้อยละ 28.9 ถือว่าสูง ที่สำคัญผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินความเสี่ยงของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยระบาดแอฟริกาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 แต่ในปี 2567 เจอในพื้นที่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน

สำหรับไวรัสนี้ ติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง และสิ่งของที่มีปนเปื้อนทุกอย่าง  มีสัตว์รังโรค คือ ค้างคาว  พบได้ในเหมืองและถ้ำใน แอฟริกา ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน ดังนั้น หากเดินทางไปประเทศที่มีรายงาน และต่อมามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน และมีผื่นนูน ผู้ป่วยอาการนุรแงอาจพบภาวะเลือดออกตามผิวหนัง และอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตในช่วง 8-9 วันหลังเริ่มมีอาการ

โอกาสแพร่มาโซนเอเชียอยู่ในระดับต่ำ

พญ.จุไร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาจำเพาะต่อโรค จึงเป็นโรคที่ต้องระวังมาก และองค์การอนามัยโลกออกมาเตือน อย่างความเสี่ยงการระบาดระหว่างภูมิภาคอยู่ในระดับสูง ส่วนระดับโลก หรือจะแพร่มาโซนเอเชียนั้น ยังอยู่ระดับต่ำ เพราะคนป่วยจะอาการหนัก ไม่ค่อยเดินทางนัก แต่เราไม่ประมาทต้องระวัง เพราะเชื้อก็ปรับตัวเรื่อยๆ และไทยปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินโดยตรง

ไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดต่ออันตรายในไทย

“ ไวรัสตัวนี้ ไทยจัดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  จึงมีมาตรการรองรับที่เข้มงวด แม้เราจะยังไม่ห้ามการเดินทาง แต่จะมีมาตรการคัดกรอง และหากผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง จะมีคำแนะนำในการเฝ้าระวัง” พญ.จุไร กล่าว และว่า  หากต้องเดินทางไปประเทศเสี่ยงจริงๆ ขอให้หลีกเลี่ยงสัมผัสค้างคาวหรือเข้าไปในถ้ำ ในเหมือง หลีกเลี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่งจากค้างคาว ซึ่งอาจพบได้ในผลไม้ ดังนั้น หากจะรับประทานขอให้ล้างให้สะอาด และไม่ควรสัมผัสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชิมแปนซี กอริลลา

โปลิโอ ไทยไม่พบระบาด

นอกจากนี้ โรคโปลิโอ ไทยไม่พบการระบาด แต่ปัจจุบันยังคงพบการระบาดใน 2 ประเทศ คือ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน  แต่ที่ต้องระวังคือ ล่าสุดเดือนส.ค.2567 พบผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนลกายพันธุ์ ในฉนวนกาซา หลังจากปลอดโรคมาเป็นเวลา 25 ปี

“จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองพาบุตรหลาน เข้ารับวัคซ๊นป้องกันโรคโปลิโอตามกำหนดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านทุกแห่ง” พญ.จุไร กล่าว