กรมควบคุมโรคเผยไวรัสมาร์บวร์กที่ระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี แถบแอฟริกาตอนกลาง ล่าสุดสถานการณ์เริ่มอยู่ในระดับการควบคุมได้ ส่วนไทยความเสี่ยงยังต่ำ พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กที่มีการระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี แถบแอฟริกาตอนกลางนั้น ล่าสุดสถานการณ์เริ่มอยู่ในระดับการควบคุมได้ เนื่องจากมีทีมขององค์การอนามัยโลกส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมสอบสวนและควบคุมโรค ให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งเราตรวจสอบข่าวล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 9 ราย และผู้ป่วยสัมผัส 25 ราย ส่วน 2 รายที่เป็นผู้ป่วยสงสัยที่ชายแดนแคเมอรูนซึ่งติดกับอิเควทอเรียลกินี ได้รับแจ้งว่าผลตรวจเป็นลบ ไม่เป็นไวรัสมาร์บวร์ก
ทั้งนี้ จากการดูเรื่องของการเดินทาง ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้มีประชากรมากนักประมาณล้านกว่าคน และไม่ได้มีการเดินทางหนาแน่นมาก การแพร่ระบาดออกนอกพื้นที่ที่พบผู้ป่วยครั้งแรกคงมีโอกาสน้อย และยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยรายในประเทศเพื่อนบ้าน
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนคนที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีคนเดินทางมาประเทศไทยโดยมีต้นทางที่มาจากอิเควทอเรียลกินีประมาณ 4-5 รายต่อเดือน ซึ่งไม่ได้มาจากเมืองที่มีโรคระบาด คิดว่าสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงกับประเทศไทยยังต่ำ แต่เราจับตาดูใกล้ชิดเพราะประเทศนี้อยู่ในประเทศที่เราประกาศเขตติดโรคไข้เหลือง มี 12 ประเทศ ใครที่มาจากประเทศนี้ต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคไข้เหลือง ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำให้มีการติดตามคนเดินทางมาจนแน่ใจว่าไม่มีอาการป่วย ซึ่งไวรัสมาร์บวร์กติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น อุจจาระ จึงไม่ได้ติดกันง่ายนัก หากไม่ได้อยู่ใกล้คนป่วย หรืออีกกรณีติดจากสัตว์ป่าโดยตรง หากไม่ได้มีอาชีพทำงานกับสัตว์ป่าก็คงโอกาสน้อย
"ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงไม่มีข่าวอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสมาร์บวร์ก ก็คลายกังวลได้ แต่ก็ไม่ประมาท ยังคงเฝ้าระวังคนเดินทางมาจากประเทศนี้และประเทศใกล้เคียง กรมควบคุมโรคมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอื่นๆ จะคอยเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางที่มาจาประเทศติดโรคไข้เหลือง ก็จะติดตามได้ หากมีอาการจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรามีห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวทิยาลัยหลายแห่งที่ตรวจหาเชื้อได้" นพ.โสภณกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรค ประชุมมาตรการยกระดับเฝ้าระวัง “ไข้หวัดนก” 2 มี.ค.นี้ หลังพบเด็กกัมพูชาเสียชีวิต H5N1
- 184 views