องค์การอนามัยโลกพบ “ไข้หวัดนก H5N1” ในฟาร์มสัตว์ปีก เมืองดงแฮ เกาหลีใต้ และพบคนงานฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐวอชิงตัน สหรัฐ ติดเชื้อ ส่วนไทยไม่พบ แต่เข้มเฝ้าระวัง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ล่าสุดส.ค. 67 รายงานผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย กรมควบคุมโรค ยังเตือนช่วงเทศกาล วันสำคัญ ระวัง “โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน”
เมื่อเร็วๆนี้ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงข่าว “หน้าหนาว อุ่นใจ ปลอดภัย ห่างไกลโรค” พร้อมแนะแนวทางการรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาว และเผยถึงสถานการณ์ในต่างประเทศที่ไทยยังต้องเฝ้าระวัง
(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตือน ‘ 3 โรคหน้าหนาว’ ทั้งโควิด19 หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อRSV และภัยสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5)
ไข้หวัดนก ยังไม่แพร่จากคนสู่คนง่ายๆ
โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า โรคไข้หวัดนกในคน และสัตว์ทั่วโลกยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน แต่ยังไม่พบว่า สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีก ในเมืองดงแฮ จังหวัดคังวอนโด สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานคนงานฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐวอชิงตัน ติดเชื้อ 9 ราย ผู้ติดเชื้อ 3 รายยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไวรัสไข้หวัดนกชนิด A (H5N1)
“ไข้หวัดนกเป็นโรคจากสัตว์มาสู่คน เดิมเราจะพบเชื้อไข้หวัดนกติดในสัตว์ปีก แต่ระยะหลังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ ในฟาร์มโคนม ฟาร์มหมู ล่าสุดพบในสหรัฐ แต่ยังใจชื้นตรงไม่แพร่ง่ายจากคนสู่คน ต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ” พญ.จุไร กล่าว
โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 แต่หลังจากนั้นยังไม่พบอีก ซึ่งมีระบบเฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนที่ประเทศใกล้บ้านเรา อย่างกัมพูชา ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 10 ราย จึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health
พญ.จุไร ยังเผยถึงข้อแนะนำสำหรับประชาชน ว่า ยังคงเน้นย้ำประชาชน ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย และไม่ใช่ว่าไข้หวัดนกจะต้องเลี่ยงแค่สัตว์ปีก โคนมป่วยเท่านั้น ต้องหลีกเลี่ยงทั้งหมด ทั้งนี้ หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงดังกล่าวให้แพทย์ทราบ
ระวัง “โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน”
ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงโรคและภัยสุขภาพในช่วงวันสำคัญ หรือเทศกาลต่างๆ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จากข้อมูลกองระบาดวิทยา พบว่า กลุ่มเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 57.89 ตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด แนะนำให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ปฏิบัติตนดังนี้ 1. กินอาหารปรุงสุก ใหม่ 2. หากเก็บอาหารไว้เกิน 2 ชั่วโมง อุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนกินทุกครั้ง 3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารทุกครั้ง 4. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. และ 5. บริโภคน้ำแข็งที่สะอาด ไม่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลงานบุญ งานกฐิน ที่ประชาชนต้องมีการจัดเตรียมอาหารทำบุญ และมีการเดินทางเป็นหมู่คณะ โรคและภัยสุขภาพที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ อาหารเป็นพิษ ซึ่งต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” และต้องล้างมือ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารสำหรับการเดินทาง แนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน เนื่องจากทัศนวิสัยอาจไม่ดี เป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึง มีให้ระวังเรื่องการจุดพลุ ประทัด ทั้งนี้ สถานการณ์พลุ ประทัดระเบิด ตั้งแต่ปี 2562 - 2566พบผู้บาดเจ็บ 4,225 ราย และเสียชีวิต 10 ราย จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวัง ควรออกห่างจากบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ หากเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บให้โทร 1669 และรีบส่งโรงพยาบาล ให้เร็วที่สุด และในช่วงเทศกาลลอยกระทง เนื่องจากวัยรุ่นอาจมีการแสดงแสดงออกการเป็นคู่รัก แนะนำให้ป้องกันตนเอง ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง สังเกตและหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีผื่น แผล ตุ่ม หนองสงสัย หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ปรึกษาและรับการตรวจที่คลินิกทันที
14 พ.ย. วันเบาหวานโลก
นอกจากนี้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนยังมีวันสำคัญ คือ วันเบาหวานโลก ปีนี้ ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Diabetes and Well-Being สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน” เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 6 ของคนไทย และ 1 ใน 11 ของคนไทย มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้
25 พ.ย.วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทั้งในเด็ก ผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัวด้วย หากคนในสังคมมุ่งมั่นร่วมกันยุติความรุนแรงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลง
1 ธ.ค.วันเอดส์โลก
วันเอดส์โลก ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยในปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Take the rights path : เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 พบว่า ร้อยละ 27.9 ประชาชนมีทัศนคติเลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรมควบคุมโรคขอสนับสนุนให้ทุกคนเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวี เพื่อการมีสุขภาพและชีวิตที่ดี และเน้นย้ำการปฏิบัติตน ดังนี้
1.ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ทุกคน ทุกช่องทาง
2. หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ
3. เข้าสู่ระบบการรักษาทันที กินยาเร็วและต่อเนื่อง รู้เร็ว รักษาเร็ว กินยาเร็ว กดไวรัสได้ สุขภาพดี ไม่ถ่ายทอดเชื้อสู่คู่ ใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ
- 168 views