นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุในบทความ “วันกรรมกรสากล ร่วมพัฒนามาตรฐานแรงานไทยและในกลุ่มอาเซียน” ว่า เนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากลปีนี้ 1 พฤษภาคม 2556 คณะกรรมการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ขอสดุดีและคารวะต่อ “พลังแรงงานสร้างสรรค์โลก” และขบวนแรงงานทั่วโลกผู้ต่อสู้บุกเบิกจนสามารถก่อเกิดการยอมรับหลักการและมาตรฐานแรงงานสากลร่วมกัน ในอันที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต และต้องคุ้มครองเสรีภาพการรวมตัวเจรจาต่อรอง เพื่อประกันความมั่นคงในการทำงานและสิทธิเสรีภาพ อันมีผลต่อสังคมไทยมายาวนาน แม้จะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมดก็ตาม
คณะกรรมการฯด้านสวัสดิการสังคมชุดนี้ ได้รับมอบหมายจาก คปก. เพื่อปฏิรูปกฎหมายด้านสวัสดิการสังคมทั้งระบบ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มกฎหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนากฎหมายด้านแรงงาน ตั้งแต่การคุ้มครองแรงงาน ระบบประกันสังคม การแรงงานสัมพันธ์ การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน จนถึงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ทั้งในระบบการบริหารและวิธีการพิจารณาของศาลแรงงาน การเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนามาตรฐานแรงงานร่วมกันในกลุ่มอาเซียน
การสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้มีความมั่นคงตลอดชีวิต และมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนทำงานจึงเป็นข้อต่อสำคัญที่สุดของทุกครอบครัว ในการทำงานเพื่อดูแลตัวเอง ลูกหลานและพ่อแม่ญาติพี่น้อง นั่นคือ การสร้างฐานชีวิตที่มั่นคงตั้งแต่เกิดจนถึงชราภาพ ในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตการทำงาน หรือแม้แต่ในยามที่พิการ หรือจากไป
จากการศึกษากฎหมายแรงงานหลายฉบับ พบว่า กฎหมายแต่ละฉบับยังมีปัญหาในเรื่องเนื้อหาสาระและในภาพรวมยังมีความลักลั่น เช่น คำนิยามของลูกจ้างและนายจ้างที่ต่างกัน เป็นช่องว่างทำให้คนทำงาน จำนวนมากไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และมีข้อจำกัดในกลไกคุ้มครองการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง ในกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ อีกทั้งมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหากฎหมายลำดับรอง และการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในส่วนที่เป็นกลไกบริหารของรัฐ และวิธีการพิจารณาคดีของศาลแรงงาน เมื่อประกอบกับสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยอย่างมาก คนส่วนใหญ่ยังขาดปัจจัยการผลิต ที่ดินทำกิน ทุน และการเข้าถึง ระบบค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงานที่ต่ำ ส่งผลให้ระบบสวัสดิการสังคมอ่อนแอ แรงงานยิ่งประสบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ไม่มั่นคงในชีวิต
คณะกรรมการฯ ด้านสวัสดิการสังคม ตระหนักว่า ในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบต้องพิจารณา ทั้งกฎหมายหลัก และกฎหมายลำดับรอง โดยให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการร่างกฎหมาย เนื้อหาของ กฎหมาย ผลการบังคับใช้ จนถึงการวินิจฉัยและการตีความ บนฐานความเชื่อมั่นว่า กฎหมายไม่ได้เพียงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล รัฐสภาและ นักกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถปฏิรูปเฉพาะตัวบทกฎหมาย เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม ตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้ คปก. จึงมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทำงานร่วมองค์กรเครือข่ายต่างๆ ในสังคม และส่งเสริมสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักสิทธิประชาธิปไตย ทางตรง ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯด้านประชาคมอาเซียน และคณะอนุกรรมการฯด้านกฎหมายแรงงาน เพิ่มเติมด้วย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ผนวกกับงานศึกษาวิจัย รวมทั้งการจัดเวทีสาธารณะ คณะกรรมการฯด้านสวัสดิการสังคม ได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอ แนะในกฎหมายด้านแรงงานเสนอต่อ คปก. ซึ่ง คปก.ได้มีบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และรัฐสภา ในหลายกรณี อาทิ
1) ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายลำดับรอง และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น
(1) การเร่งรัดจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อเนื้อหาที่จะร่างเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยเสนอความเห็นไป 2 ฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
(2) การบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554ที่กำหนดให้รัฐบาลมอบทุน 1,000 ล้านบาท จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนที่มาจากทุกภาคส่วน และเปิดรับสมาชิก ซึ่งเป็นความหวังอย่างมากที่จะมี “บำนาญภาคประชาชน” แต่จนเกินกำหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลไปนานแล้ว รัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ และมีแนวโน้มจะไม่ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย
(3) ความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ....เสนอต่ออธิบดีศาลแรงงาน
(4) การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2555
2) ข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิพื้นฐานที่สำคัญ มีผลต่อคนทำงานหลายสิบล้านคน แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับเข้าชื่อ ทำให้ร่างนี้ตกไปไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่ง คปก. มีบันทึกความเห็นสองฉบับ คือ การเสนอทักท้วงการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายเข้าชื่อนี้ ว่าไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองสิทธิทางการเมืองโดยตรง และให้สิทธิผู้เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด และมีการจัดทำบันทึกความเห็นและข้อสังเกตต่อเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายอีก 1 ฉบับ
3) การร่วมกับองค์กรเครือข่ายพัฒนามาตรฐานแรงงานในไทยและในอาเซียน โดยที่ประชาคม อาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ให้ความสำคัญของสามเสาหลักควบคู่กัน คือ ทั้งประชาคมเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านสังคม ขณะที่ประเทศไทยเน้นแต่ประชาคมเศรษฐกิจ ละเลยการเตรียมการและพัฒนา ด้านสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯด้านสวัสดิการสังคมจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหา รวมทั้งการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และประสานความร่วมมือทั้ง กับภาครัฐและภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ ในการพัฒนามาตรฐานแรงงานร่วมกันในประเทศอาเซียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม ทั้งต่อคนไทย และต่อประชาชนในอาเซียน
ในโอกาสวันกรรมกรสากล ปี 2556 คณะกรรมการฯด้านสวัสดิการสังคม พร้อมจะร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมและแรงงาน ในการติดตามผลักดัน รณรงค์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปกฎหมายตามความเห็นและข้อเสนอ แนะของ คปก.ที่เสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานต่างๆ
ในโอกาสวันแห่งพลังสามัคคีของแรงงานทั่วโลก เรามีหน้าที่ผลักดันให้แรงงานและองค์กรของแรงงานได้รับสิทธิเสรีภาพตามมาตรฐานแรงงานสากล และผลักดันมาตรฐานแรงงานในไทยและกลุ่มอาเซียนควบคู่กัน คณะกรรมการฯด้านสวัสดิการสังคมถือเป็นภารกิจสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันร่างกฎหมายเข้าชื่อ ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ .... ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาในวาระที่ 1 เสียที เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของแรงงาน ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนทำงานเอง และยังช่วยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาความร่วมมือกัน
วันกรรมกรสากล คือวันที่ยืนยันความสำคัญในการสร้างพลังความเข้มแข็งขององค์กรแรงงานและจะเป็นฐานสำคัญไปสู่การปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ ที่มีอุดมการณ์ และทิศทางที่ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของคนทั้งสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และก่อเกิดผลที่ดีต่อสังคมและมนุษยชาติโดยรวม
- 6 views