นักวิชาการห่วง ผู้สูงอายุไทยขาดคนดูแลยามแก่เฒ่า เหตุคนรุ่นใหม่มีบุตรลดลง แนะภาครัฐเพิ่มแรงจูงใจให้อยู่ในระบบการทำงานนานขึ้น เพื่อความมั่นคงทางรายได้ ชี้หากไม่วางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ระยะยาวกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย
วานนี้(26 เม.ย.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) โดยแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มมโนทัศน์ใหม่ ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย เสวนาวิชาการ "สังคมไทยจะก้าวไปอย่างไรบนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร" เพื่อฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างของสังคมไทย ที่กำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และร่วมกันสะท้อนมุมมองสำหรับการปรับตัวและการวางแผน เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มโครงสร้างทางประชากรของสังคมไทยกำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุ จากตัวเลขเมื่อปี 2553 ระบุว่ามีผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 8.5 ล้านคน
โดยหากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยที่มีประมาณ 65.9 ล้านคน พบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ13 โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 20 ในอีก 10ปีข้างหน้า ดังนั้นประเด็นการเตรียมความพร้อมของสังคมไทย ในการมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะได้รับผลกระทบด้านกำลังแรงงาน
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า นอกจากสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรแล้วนั้น ขณะเดียวกันประเทศไทยก็กำลังประสบกับภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง หรือที่เรียกว่าภาวการณ์มีบุตรน้อย โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า ประชากรที่มีอายุ 80 ปี จะมีอัตราการมีบุตรเฉลี่ยคนละ 4.6 คน ส่วนประชากรอายุระหว่าง 50-54 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียงคนละ 2.1 คน เท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจะเห็นว่า แนวโน้มการมีบุตรลดลงค่อนข้างมาก ประกอบกับค่าเฉลี่ยอายุในปัจจุบันที่สูงขึ้น ในระยะยาวสังคมไทยจึงอาจประสบปัญหาคุณภาพชีวิตและการเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งอาจไม่มีบุตรหลานคอยดูแล
"ประเด็นเรื่องความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะความเป็นอยู่ยามชราภาพ ถือเป็นประเด็นที่ควรมีการพูดถึงและวางแผนรองรับมากขึ้น เพราะปัจจุบันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ครอบครัวมักมีลูกเยอะ ยามแก่เฒ่าจึงมีลูกหลานคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ" รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามประเด็นด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของผู้สูงอายุ ก็ถือเป็นสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในอนาคตประเทศไทยน่าจะประสบกับภาวะขาดแคลนกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างภาคเอกชน เนื่องจากสัดส่วนการออกจากงานของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 47-48 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือหากเป็นเพศหญิงก็มักจะออกไปเป็นแม่บ้าน ซึ่งการออกจากงานที่ค่อนข้างเร็วเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางรายได้ในอนาคต
"แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดจะพยายามสร้างหลักประกัน ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเงินบำนาญ แต่ในเรื่องของการขยายโอกาสการทำงาน หรือการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ตรงนี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังไม่ค่อยมีความพร้อมมากนัก
ดังนั้นภาครัฐควรมองถึงแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระบบการทำงานอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ซึ่งตรงจุดนี้ควรเริ่มวางแผนในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แต่การดึงให้คนอยู่ในระบบการทำงานนานยาวนานขึ้น ไม่ได้หมายถึงการขยายอายุเกษียณเพียงอย่างเดียว อย่างในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ก็จะมีมาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน" รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าหากประเทศไทย มีการวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการเพิ่มอายุการทำงาน หรือชักจูงในคนอยู่ในระบบงานนานขึ้น จะส่งผลให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมั่นคงมากกว่าการไม่เตรียมความพร้อม โดยมีการคาดการณ์ว่าหากไม่การเตรียมการอะไรเลย ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง 1%
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยสภาพสังคมไทยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ในอนาคตจะส่งผลให้มีอัตราการเป็นภาระวัยสูงอายุ หรืออัตราที่พึ่งพิงวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งนี้หากแบ่งตามสัดส่วนของผู้สูงอายุตามศักยภาพ จะพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม คือสามารถออกมาพบปะผู้คนได้ ร้อยละ 78 กลุ่มติดบ้าน คือ ลูกหลานต้องคอยดูแล ร้อยละ 20 และกลุ่มติดเตียง คือ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ร้อยละ 2
ดังนั้นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จึงต้องอาศัยรูปแบบการให้บริการที่มีส่วนร่วมจากชุมชนเข้ามาช่วยกัน โดยพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ขยับเป็นกลุ่มติดสังคมมากขึ้น
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีกรอบแนวคิด ที่จะพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ โดยดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการช่วยกันดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่การพึ่งพาตนเอง การให้ครอบครัวเป็นผู้ดูแล โดยสนับสนุนให้มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุประจำครอบครัว การให้ชุมชนช่วยกันดูแลโดยจัดให้มีศูนย์อเนกประสงค์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ ส่วนในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ(Nursing home)
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน 2556
- 8 views