ผอ.รพ.กรงปินัง หนุน สธ.เดินหน้า P4P ชูการเก็บข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญการทำงาน หลังพบที่ผ่านมาเก็บข้อมูลน้อย ทำโรงพยาบาลขาดเงิน On Top จาก สปสช.รวมกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งที่ควรจะได้ ย้ำเรื่องเงินไม่ใช่ความสุขของชีวิตแพทย์ แต่คือการทำเพื่อประชาชน ยันแพทย์ลาออกไม่ใช่เพราะ P4P
       
วันนี้ (23 เม.ย.) นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรงปินัง จ.ยะลา กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขเป็นแบบผสมผสาน ระหว่างค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และการจ่ายตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) จนเป็นสาเหตุให้กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านต่อเรื่องดังกล่าว เพราะมีการลดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในบางพื้นที่ ว่า การที่ สธ.ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ มีเจตนาให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเกิดการทบทวนวิธีการทำงาน เพื่อให้การดูแลประชาชนมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากที่สุด บุคลากรที่รู้สึกว่าทำงานหนักได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับบริบท รวมถึงเรียนความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุขที่กำลังจะหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานตามความเป็นจริง
       
นพ.สมหมาย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีหลายโรงพยาบาลที่ไม่มีการบันทึกข้อมูลการทำงานอย่างสมบูรณ์ ทำให้การเบิกเงินเพิ่มเติม (On Top) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งควรจะได้รับเพิ่มเติมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับหายไปปีละกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งหลักการเก็บข้อมูลตรงนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับการจ่าย P4P ของ สธ. โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใน จ.ยะลา ทั้ง 6 แห่ง จะเริ่มให้บุคลากรเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานของตนเอง ซึ่งผู้บริหารจะนำมาเป็นข้อมูลในการประเมินความดีความชอบ รวมทั้งพิจารณากรณีได้รับเงิน On Top จาก สธ.1% และเป็นข้อมูลแสดงต่อ สปสช.ด้วย

 “การเก็บข้อมูลจะช่วยให้ฐานข้อมูลแข็งแรงขึ้น เกิดการแข่งขันในการทำงาน คนไข้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ศรัทธาก็จะกลับมา และการถูกฟ้องร้องก็จะลดลง ส่วนการล่าแต้มผมคิดว่าเป็นแค่การหาคำตอบให้กับผู้ที่ไม่เข้าใจก็สามารถเอาแต้มมาดูได้ สำหรับเรื่องเงิน On Top บางคนอาจได้เพิ่มเพียง 100-200 บาท แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำ ช่วยกันเก็บข้อมูล ผมเชื่อว่าเงิน On Top จะต้องเข้าสถานพยาบาลของตัวเองเยอะขึ้นแน่นอน” ผอ.รพ.กรงปินัง กล่าว
       
นพ.สมหมาย กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์ชนบทคนหนึ่งและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องเงินไม่ใช่ตัวตั้งของความสุขในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญคือการได้ทำประโยชน์และดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และคนไข้รักเรา อย่างตนเคยอยู่ รพ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และย้ายมาอยู่ รพ.กรงปินัง ซึ่งมีการยิงทุกวัน หลายคนอาจคิดว่าตนโง่ที่เลือกมา แต่ในความคิดของตนคือเราได้นำเอาสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเข้าไปดูแลคนในพื้นที่ ลดความร้อนแรงทำให้พื้นที่สงบขึ้น ทุกวันนี้ที่แพทย์ชนบทออกมาคัดค้าน เพราะ สธ.ไม่มีเทคนิคในการสื่อสารทางบวกให้เขาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
       
“คุณค่าความเป็นแพทย์นั้น เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ผมเป็นหมอสูติฯ เปิดคลินิกมีรายได้สูง 4 แสนบาทต่อเดือน การย้ายมาอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยพูดได้เลยว่า เงินไม่ได้มีความสำคัญ การทำความดีซื้อไม่ได้ด้วยเงิน การที่แพทย์เอาเงินเป็นตัวตั้งศรัทธาจากประชาชนจะกลับมาได้อย่างไร อยากฝากให้ไปทบทวนกัน” ผอ.รพ.กรงปินัง กล่าว
       
นพ.สมหมาย กล่าวต่อไปว่า กระแสที่ระบุว่าแพทย์ลาออกเพราะ P4P เพื่อไป รพ.เอกชนมากขึ้นนั้นก็ไม่เป็นความจริว เพราะ รพ.เอกชนจะมีการคัดเลือกแพทย์ตามคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งการพิจารณาเฉพาะแพทย์เฉพาะทางชั้นสูง ต้องเก่งทั้งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญการทำงานก็ไม่ต่างจาก P4P คือทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เมื่อถูกฟ้องร้องก็ถูกไล่ออก และจะการันตีเงินเดือนแค่ 3 เดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้องหาลูกค้าเลี้ยงตัวเองและองค์กร การลาออกจึงไม่ใช่เพราะ P4P แน่นอน แต่ส่วนใหญ่เพื่อไปเรียนต่อ
       
ด้าน นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รพ.กาฬสินธุ์เริ่มใช้วิธีการจ่าย P4P ตั้งแต่ต้นปี 2555 ซึ่งการจ่ายดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ลดลง แต่กลับได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะมีแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้นที่ได้รับเงินน้อยลงแต่ไม่มาก ส่วนการล่าแต้มคงไม่มีเพราะบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีจรรยาบรรณ และตนก็ไม่อยากให้มองเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แต่อยากให้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่า สำหรับระยะเริ่มต้นการจ่าย P4P มีปัญหาบ้าง แต่สามารถตกลงกันได้ ส่วนที่บอกว่าแพทย์จะลาออกเพราะการจ่าย P4P จริงๆ แล้วคงมีจำนวนน้อย
       
“เรื่องที่โรงพยาบาลหลายแห่งออกมาคัดค้านและกังวลว่าจะยุ่งยากหากใช้วิธีจ่ายแบบ P4P ขอยืนยันว่าไม่มีความยุ่งยากหรือเสียเวลาอย่างที่กังวล เนื่องจากการจ่ายจะมีการแบ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยการจ่ายจะมีการแบ่งคะแนนเป็น 2 แบบ คือคะแนนกิจกรรมและคุณภาพ ซึ่งจะมีบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องใช้การจด เช่น พนักงานขับรถ ส่วนบุคลากรสาธารณสุขกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีระบบเทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาลจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจดบันทึกโดยเฉพาะ และระบบดังกล่าวก็มีหลายโรงพยาบาลมาขอไปใช้แล้ว” ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ กล่า

ที่มา : www.manager.co.th