รองสสจ.ปัตตานีและยะลาระบุเกณฑ์ 30 บาทไม่เป็นธรรม ทำโรงพยาบาลเจ๊ง เพิ่ม "หมอหน้าจอ" สปสช.ระบุอยู่ระหว่างหาทางแก้
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 12 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสังกัดโรงพยาบาล จาก จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา กว่า 300 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานสปสช. เขต 12 เพื่อร้องเรียนถึงการบริหารและจัดสรรเงินอย่างไม่เป็นธรรมของสปสช. พร้อมนำป้ายโจมตีการบริหารของสปสช. อาทิ "สปสช.บริหารเงินมั่ว"
นพ.อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยบริการที่รับงบประมาณจากสปสช. ได้รับความอึดอัดมาโดยตลอด เนื่องจากเกณฑ์ของสปสช.ในการกระจายงบประมาณไม่มีความเป็นธรรม แม้จะมีความพยายามในการเกลี่ยเงิน แต่ก็ยังทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากขาดทุน โดยที่ผ่านมาทำให้โรงพยาบาลโคกโพธิ์ขาดทุนถึง 20 ล้านบาทและทำให้เกิดโรงพยาบาลชุมชนมีภาวะวิกฤตการเงินถึง 21 แห่ง จากทั้งหมด 77 แห่ง ใน 6 จังหวัด
นอกจากนี้ ในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ยังประสบปัญหาการกรอกข้อมูลตามตัวชี้วัดเพื่อให้ได้งบประมาณตามเกณฑ์ของสปสช. และต้องกรอกข้อมูลในรายละเอียดที่ซับซ้อน ทำให้หมออนามัย กลายเป็นหมอหน้าจอ ไม่มีเวลาดูแลคนไข้
ทั้งนี้ ได้เสนอแนวทางแก้ไข 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปรับเปลี่ยนวิธีการและเกณฑ์จัดสรรเงิน เพื่อแก้วิกฤตการเงินโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนทุกภาคร่วมพิจารณา 2.การจัดสรรเงินบริการ ควรจัดสรรในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ จากการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยบริการ 3.ทบทวนโครงการงานแลกเงิน ที่มากเกินไป รวมถึงร่วมบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มให้งานเกิดประสิทธิภาพ และ 4.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบโดยมีตัวแทนสปสช. สธ. และภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหา และหาแนวทางช่วยเหลือ
ขณะที่ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรงปินัง กล่าวว่า สปสช.ควรฟังคนที่มีส่วนร่วมจริงๆ มากกว่าฟังแต่พวกตัวเอง ถ้าตราบใดไม่มีความเสมอภาค และไม่มีส่วนร่วม ความยั่งยืนไม่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเมื่อพื้นที่เดินทางมาสะท้อนความเห็นโดยตรง สปสช.ก็ถึงเวลาต้องทบทวนว่าทำอย่างไรในการช่วยจัดการ
ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสปสช. เขต 12 กล่าวว่า ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอ รวมถึงจะนำเรียนไปยังผู้บริหารสปสช. อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอบางข้อไม่อยู่ในอำนาจ และต้องนำเสนอไปยังผู้บริหารสธ.ต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า กระบวนการคำนวณเงินตามภาระงานของสปสช. สามารถตรวจสอบได้ มีรายละเอียดครบถ้วน ส่วนปัญหาการเกลี่ยเงินเดือนที่ทำให้หน่วยบริการบางแห่งขาดเงินเดือนสำหรับจ่ายเจ้าหน้าที่นั้น ได้มีการประชุมกับ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ.เพื่อแก้ปัญหาแล้ว โดยจะนำงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 มาช่วยเหลือในเบื้องต้น
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสปสช. กล่าวว่า แม้จะมีข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างสปสชและสธ. แต่ยืนยันว่าทั้งสองหน่วยงานได้พูดคุยและหารือกันมาโดยตลอด โดยข้อขัดแย้งต่างๆ รวมถึงเรื่อง "หมอหน้าจอ" นั้น นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ได้เห็นตรงกันว่าจะร่วมกันแก้ไข ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานร่วมระหว่างสธ.-สปสช. ได้หารือกันเพื่อแก้ปัญหาแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ได้สลายตัวกลับพื้นที่เมื่อเวลา 12.00 น. โดยระบุว่า หากสปสช.ยังไม่แก้ปัญหาดังกล่าวก็จะเดินทางมาชุมนุมอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่คณะของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. รวมถึงผู้บริหารสธ. และผู้บริหารสปสช. จะเดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ในวันที่ 24-25 ต.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ข้าราชการระดับสูงของสธ.อยู่เบื้องหลังการนำเจ้าหน้าที่มาชุมนุมเพื่อฉายภาพความขัดแย้งระหว่างสธ.-สปสช.
- 19 views