นับตั้งแต่ที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอย่างกะทันหันที่จะ “ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย” ในโรงพยาบาลชุมชน และอธิบายว่าเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(Pay for Performance, P4P, พีฟอร์พี) นั้น  ส่งผลให้ขณะนี้ความขัดแย้งกำลังลุกลามไปทั่ว มีทั้งผู้สนับสนุน เพราะเชื่อในหลักการที่รัฐมนตรีประกาศ  ควบคู่กับผู้ต่อต้านเพราะตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับผู้ป่วยในชนบทที่จะตามมาเพราะขาดแคลนทีมสุขภาพ  การตัดสินใจใช้ระบบใหม่ครั้งนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานทุกสาขาวิชาชีพ  การเร่งรีบดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยนำเอาพีฟอร์พี มาใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งนี้  ดำเนินการบนความไม่พร้อมของทั้งของฝ่ายนโยบายและฝ่ายผู้ปฏิบัติ จนทำให้สงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่

มูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมเภสัชชนบท เห็นว่า เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยังมีความสำคัญในการที่จะเป็นขวัญกำลังใจให้ทีมสุขภาพทุกสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนและรพ.สต.(สถานีอนามัย)  จึงเสนอข้อเสนอ 3 ข้อ ต่อสังคม ประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รักษาบุคลากรสาธารณสุขให้ดำรงอยู่ ควบคู่กับการลดความขัดแย้งที่กำลังลุกลามบานปลายในขณะนี้ ดังนี้

1.       คงการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไว้ แต่ให้มีการปรับอัตราของแต่ละวิชาชีพ ให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง

2.       ควรนำ พีฟอร์พี. มาทดลองใช้แบบจ่ายเพิ่มเติม (On Top) โดยเฉพาะ ในบริการบางอย่างที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงและยังไม่เข้าใจ เช่น การป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง(primary prevention) การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน รวมทั้งงานสร้างเสริมสุขภาพ และ ป้องกันโรคอื่นๆ ที่พบว่าได้ผลดีในการเพิ่มการเข้าถึงบริการจำเป็นที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ภายใต้ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน

3.        สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบการประเมินผลงานและการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนโดยเฉพาะในระดับกระทรวง โดยจำเป็นต้องมีตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เข้าร่วม  การสั่งการไม่เกิดประโยชน์แต่สร้างปัญหา

ข้อเสนอของมูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมเภสัชชนบท นี้ ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพต้องการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักเสมอ  ไม่ใช่เพียงต้องการรายได้หรือผลประโยชน์เพื่อความสุขสบายของตนเท่านั้น   การดูแล ขวัญกำลังใจ”  จึงเป็นหน้าที่สำคัญของ “ผู้บริหาร”   ซึ่งหากผู้บริหารไม่สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้  แต่กลับยังสั่นคลอนให้ขาดขวัญกำลังใจแล้ว   ถือว่าผู้บริหารนั้นไม่ผ่านการประเมิน

 

ลงชื่อ  รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์                                     ลงชื่อ     ภก.ภาณุโชติ  ทองยัง

ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท                                                 ประธานชมรมเภสัชชนบท