12 องค์กรวิชาการด้านยา สุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภค และวิชาชีพเภสัชร่วมจัดการประชุมวิชาการว่าด้วย ‘ปฏิรูประบบยา’ วิพากษ์ร่าง พรบ.ยาที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ระบุว่า ขณะนี้มีความพยายามขัดขวาง ร่าง พรบ.ยา ที่ สธ.แก้ไขจากฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ร่างนี้ สธ.ได้หารือและแก้ปัญหาเรื่องนิยามยา และผู้ประกอบวิชาชีพที่สามารถสั่งจ่ายยาได้แล้ว แต่พบว่า ถูกกระทรวงพาณิชย์ขัดขวางโดยใช้ความเห็นของบรรษัทยาข้ามชาติเพื่อตัดการยื่นแสดงโครงสร้างราคายาในการยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับ
“พณ.อ้างว่า กรมการค้าภายในควบคุมราคายาอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ที่จริงกรมการค้าภายในทำเพียงการควบคุมไม่ให้จำหน่ายเกินราคาที่ระบุโดยผู้ผลิตเท่านั้น ทำให้ตัวเลขงานวิจัยพบว่า คนไทยบริโภคยามากกว่า 140,000ล้านบาท รพ.รัฐซื้อยาต้นแบบในราคาแพงกว่าราคายาอ้างอิงสากลถึง 3.3เท่า ขณะที่ซื้อยาสามัญในราคาแพงกว่า 1.46เท่า ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาและเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างมาก พณ.ไม่ทำหน้าที่แต่กลับขัดขวางกลไกที่จะควบคุมราคายา”
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์คัดค้านเรื่องยื่นแสดงโครงสร้างราคายาเมื่อขึ้นทะเบียนยานั้น เป็นการสนับสนุนทุนข้ามชาติให้อยู่เหนืออำนาจรัฐ
“ข้ออ้างของ พณ.ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จะกระทรบต่อนโยบายเมดิคัลฮับหรือเกรงกระทบการค้าการลงทุนนั้น จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครจะได้รับประโยชน์ในกรณีนี้ ทำให้เห็นว่า พณ. ไม่ได้ออกกฎหมาย-บังคับใช้กฎหมายที่วางอยู่บนหลักนิติรัฐและนิติธรรม แต่ความเห็นของ พณ.เป็นการทำให้ทุนข้ามชาติอยู่เหนือรัฐ ไม่ได้ทำให้กฎหมายเป็นที่พึ่งของประชาชน การค้า-การลงทุนต้องไม่เน้นเรื่องการเอาแต่ได้อย่างเดียว ต้องมีเรื่องสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยของผู้บริโภค รัฐบาลพึงตระหนักว่า การปฏิรูปประเทศไทย คือการปฏิรูประบบราชการให้มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม”
ทางด้าน รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ สปช. ในฐานะรองประธาน กมธ.สาธารณสุข และ รองประธาน กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค ว่า ขอเรียกร้องให้ ครม. เร่งพิจารณา ร่าง พรบ. ยา เพราะเป็นส่วนที่สำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ เนื่องจากยาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบบริการสุขภาพ พรบ.ยา ที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัยแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2510แม้จะมีการปรับแก้เป็นระยะแต่ก็ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีและระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก
“อยากให้มีกระบวนการพิจารณากฎหมายที่โปร่งใสชัดเจน เช่น ใช้แบบฟอร์มหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจยาทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องไม่ มาเป็น กมธ.วิสามัญในการพิจารณากฎหมาย และสำหรับสาระใน ร่าง พรบ. ส่วนใหญ่ที่ตกลงกันได้แล้ว เช่น การแบ่งประเภทยา การผลิตยาในสถานบริการ การจำหน่ายยา อำนาจหน้าที่ของวิชาชีพต่างๅ ฯ ในส่วนของข้อเสนอนั้น ให้มีโครงสร้างราคายา การควบคุมราคายา และข้อมูลสถานะสิทธิบัตรในตอนยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตนเห็นว่าสาระดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าในกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งให้มีการนำร่าง กฎหมายนี้เข้าสู่กระบวนนิติบัญญัติ เพื่อให้ สนช. ได้พิจารณาโดยเร็ว ต้องไม่ยอมให้ภาคธุรกิจต่างชาติเข้ามาแทรกแซงหรือกดดัน เพราะ เป็นเรื่องประโยชน์และอธิปไตยของไทย”
นอกจากนี้ รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่ขาดหายไปในร่าง พรบ.ยา ซึ่งควรเติมในช่วงการพิจารณาของ สนช. นั่นคือ การควบคุมการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณายา
“แม้จะมีเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมแล้วก็ตาม แต่หากไม่มีการเขียนหลักในกฎหมายจะทำให้สาระของเกณฑ์ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่า จะไม่สามารถปฏิบัติได้”
อนึ่ง การประชุมวิชาการว่าด้วย ‘ปฏิรูประบบยา’ มีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย กลุ่มศึกษาปัญหายา, แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม, คณะเภสัช จุฬาฯ, มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย, ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประชุมจัดขึ้นที่ เรือนจุฬานฤมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 7 views