เครือข่ายนักวิชาการ-ภาคประชาสังคม เสนอ “ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” หนุนผู้ป่วย แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เต็มที่ เสนอถอดกัญชา กระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 แต่มีสถานะเป็น “พืชยา” ถูกควบคุมเฉพาะ เตรียมล่ารายชื่อคนสนับสนุน
วันที่ 24 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุม Dipak C. Jain อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม จัดแถลงข่าว “ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฉบับปรับปรุงล่าสุด (ฉบับที่ 7) จะเปิดโอกาสให้นำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากกัญชา-กระท่อมยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และกลุ่มผู้ป่วย ยังไม่สามารถนำมาใช้ในฐานะเป็น “พืชยา” ได้อย่างเต็มที่ เพราะมีโทษทางอาญา ซึ่งในความจริงกัญชา กระท่อม และพืชยาอื่น มีลักษณะจำเพาะแตกต่างจากยาเสพติดประเภทที่เป็นสารสังเคราะห์ จึงควรมีกฎหมายใหม่ที่กำหนดมาตรการดูแลพืชยาเหล่านี้ โดยไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ยังมีมาตรการควบคุมที่สอดคล้องกับกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเสนอให้จัดตั้ง “สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ” ให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการจากองค์กรภาคประชาสังคม ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชยา ผลกระทบที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 55
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบจัดการโดยชุมชนในร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นระบบจัดการใหม่ที่กำหนดบทบาทของชุมชนให้มีสัดส่วนเข้มข้นมากกว่าบทบาทของรัฐ หรือ การจัดการร่วมโดยเอาชุมชนเป็นฐาน ชุมชนสามารถออกแบบกฎกติกาให้ตอบสนองและสอดคล้องกับเงื่อนไข ความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ โดยมีรัฐช่วยทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ประสานงาน และดูแลปกป้องผลประโยชน์ของทุกชุมชนในภาพรวม
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการขึ้นทะเบียนตำรับ การอนุญาตผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อม หรือพืชยาอื่นๆว่า ควรมีการกำหนดบทบัญญัติการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการผลิตภัณฑ์กัญชา และกระท่อม หรือพืชยาอื่น โดยควบคุมดูแลในทำนองเดียวกันกับยา ซึ่งต้องสั่งใช้โดยแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทย และจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น อีกหนึ่งในสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มอบอำนาจให้ สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ จัดระบบพืชยาทุกประเภท เพื่อสร้างความสมดุลในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพืชยา
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากพืชยา กัญชา กระท่อม ได้มากขึ้น เพิ่มการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หลังจากนี้เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม เตรียมเผยแพร่ “ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” และจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ได้ครบ 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
- 61 views