ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบทที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่นำโดย "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข"
จากผลพวงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ จากเดิมที่จะได้ค่าตอบแทนแบบอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวพื้นที่ทุรกันดาร มาเป็นการจ่ายตามภาระงาน หรือ P4P (Pay for Performance)
พบว่าแรงต้านจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ยืนกรานคัดค้านนโยบาย P4P โดยเฉพาะกลุ่ม "หมอชนบท" ยังคงมีต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 มีการเปิดเผยออกมาจากแกนนำชมรมแพทย์ชนบทว่าขณะนี้มีแพทย์ใน รพ.ชุมชนลาออกระหว่างเดือน ก.พ.ถึงต้นเดือน เม.ย.56 รวมทั้งหมด 151 รายแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าลาออกเพราะการใช้ระบบ P4P
....................................................................
"นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ" ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทในการคัดค้าน P4P ว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ โดยแพทย์ชนบทได้นัดพบกันเพื่อกำหนดท่าทีเรื่องนี้ในวันที่ 9 เมษายนที่กรุงเทพมหานคร
"หมอเกรียงศักดิ์" ให้สัมภาษณ์ด้วยชุดแต่งกายสีดำทั้งเสื้อและกางเกง โดยบอกว่าเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับในนโยบาย P4Pของกระทรวงสาธารณสุข
"ที่ออกมาเคลื่อนไหวไล่หมอประดิษฐ เพราะตั้งแต่เข้ามาเป็น รมว.สาธารณสุข มีลักษณะต้องการรวบอำนาจ และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนในการทำนโยบาย Medical Hub และออกนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนมากอยู่แล้วในชนบทต้องขาดแคลนมากยิ่งขึ้น
มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ เราไม่ได้สะใจที่หมอลาออก แต่เราได้บอกมาตั้งแต่ต้นก่อนจะทำนโยบายแล้ว เพราะเราเห็นมาก่อนหน้านี้หลายปี ได้เห็นการที่ภาครัฐไม่สามารถตรึงหมอไม่ให้ไปอยู่ในระบบเอกชนได้ มันก็เจ็บใจ"
ประธานชมรมแพทย์ชนบท เริ่มต้นอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมต้องคัดค้าน P4P และเคลื่อนไหวกดดันให้ นพ.ประดิษฐพ้นจากตำแหน่ง รมว.สธ. โดยบอกว่าต้องอธิบายความเป็นมาก่อนว่า อะไรที่ทำให้หมอชนบทขอแตกหักกับรมว.สธ.!
โดยเริ่มเท้าความถึงนโยบายแรกๆ ที่ นพ.ประดิษฐเมื่อเข้ามาเป็น รมว.สธ.ก็ประกาศเลยว่าจะทำ และมีความเชื่อมโยงมาจนถึงการทำ P4P ซึ่งหมอเกรียงศักดิ์ขอเริ่มต้นที่นโยบาย Medical Hub หรือศูนย์กลางสุขภาพ
...แม้จะอ้างว่าเป็นนโยบายรัฐบาล แต่เขามาทำให้มันมีปัญหามากขึ้น จริงๆ แล้ว Medical Hub ต้องเกิดขึ้นเพื่อสร้างกำไรหรือผลประโยชน์ให้กับประเทศ จากส่วนเกินของทรัพยากรด้านสุขภาพ คือจะเกิดได้ประเทศนั้นๆ ต้องมีส่วนเกินจนกลายเป็นความสูญเปล่า การทำถ้าทำโดยถูกต้องตามหลักการจะเป็นเรื่องดี คือจะทำต่อเมื่ออย่างประเทศไทยต้องมีระบบดูแลสุขภาพประชาชนที่พอเพียง เสมอภาค มีประสิทธิภาพ เหมือนสิงคโปร์ประเทศเล็กนิดเดียว แต่มีโรงพยาบาลจำนวนมากจึงดูแลประชาชนเขาได้ทั่วถึง สิงคโปร์เลยทำ Medical Hub เพราะเขาเหลือจึงสมควรทำ
...แต่บ้านเราไม่สมควรทำ ยิ่งโครงสร้างระบบโรงพยาบาลของเราผิดพลาดมาก ที่ให้โรงพยาบาลเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ขนาดสหรัฐอเมริกาที่ทุนนิยมมาก เขาก็ไม่ให้เอาโรงพยาบาลเข้าตลาดหุ้น เพราะเขาถือว่าบริการทางการแพทย์ไม่สมควรเอามาแสวงหากำไร เพราะต้นทุนการแพทย์เกิดจากทางรัฐสนับสนุน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน อย่างหมอบ้านเราต้นทุนผลิตนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งก็อยู่ที่ 3-4 ล้านบาทต่อคน
...หรืออย่างต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นอาจารย์ใหญ่ (ผู้บริจาคร่างกายหรืออวัยวะหลังเสียชีวิตให้กับโรงเรียนแพทย์) ที่เสียสละตัวเองให้เป็นวิทยาทาน เชื่อหรือว่าอาจารย์ใหญ่ของเราอยากให้ฝึกนักศึกษาแพทย์เพื่อออกไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เอกชนทำกำไรหรือ ไม่มีครับ Medical Hub ของเราจึงไม่ถูกหลักการ เพราะหลักการเรื่องนี้คือต้องทรัพยกรเหลือ และกำไรต้องเอาเข้ารัฐทั้งหมด ห้ามเอาเข้าเอกชน เราก็กล้ำกลืนฝืนทนแทบแย่ ที่โรงเรียนแพทย์อย่างศิริราช มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบอกจะทำ Medical Hub เพื่อแข่งกับตรงนี้ โดยบอกว่าจะเอากำไรเข้าสู่รัฐ แล้วเอากลับมาพัฒนาโรงเรียนแพทย์ของตัวเอง เราก็ยังติงอยู่ในใจว่าโรงเรียนแพทย์ควรทำหรือเปล่า เพราะโรงเรียนแพทย์เป็นแหล่งผลิตแพทย์ และเพาะบ่มจรรยาบรรณทางการแพทย์
...มันก็จะเกิดกรณีอย่างเช่น หากมีผู้ป่วยเป็นแขกซาอุฯ มาพักห้องวีไอพีคืนละ 7 หมื่นบาท ถามว่าผู้ป่วยต่างชาติที่นอนห้องคืนละ 7 หมื่นบาท เขาจะยอมหรือที่จะให้นักศึกษาแพทย์มาดูแลมารักษา ก็ไม่ได้ ก็จะทำให้หมอที่เป็นอาจารย์ด้วยต้องไปเอาเวลาที่จะดูแลคนไข้คนไทยประชาชนคนธรรมดา ต้องมาดูแลคนไข้ชาวต่างชาติเพื่อสร้างกำไรให้โรงพยาบาล มันก็จะเกิดสองมาตรฐานขึ้นในการดูแลคนไข้ แล้วก็ยังจะให้สิทธิพิเศษ คือชาวต่างชาติที่จะเข้ามารักษาตัวก็เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า แล้วยังให้มีญาติคนติดตามเข้ามาได้อีกร่วมสิบคน และอยู่ได้ 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า เพียงแค่มีใบรับรองของแพทย์
...ทั้งหมดที่ทำเราก็เริ่มจับตามอง แล้วก็มาเห็นใบเสร็จ คือระยะหลังๆ พบว่าในการเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเอกชนของกลุ่มทุนบางกลุ่ม แล้วก็มีการจะไปสร้างหรือขยายทำโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัดหลายแห่ง แม้แต่ที่แม่สอด จะเปิดกันจำนวนมากในหลายจังหวัด
...ถามว่าโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ทำโดยไม่แสวงหากำไรหรือ ก็ไม่ใช่ เพราะไม่ใช่มูลนิธิ ถ้าเขาทำแล้วไม่เห็นโอกาสทำกำไร เขาจะทำหรือไม่-ก็ไม่ทำ ในการจัดระบบสุขภาพสิ่งสำคัญไม่ใช่เครื่องมือการแพทย์ เพราะอยู่ที่ไหนขอให้มีเงินก็ไปซื้อได้ แต่ที่จะไม่มีคือบุคลากรทางการแพทย์ แล้วถามว่าเขาจะเอาหมอจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีงานดูแลผู้ป่วยต่างชาติจนล้นมืออยู่แล้ว หรือเอาหมอจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ทำงานนอกเวลาอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนบินไปทำงานที่หนองคาย, อุดรธานี, แม่สอด ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีบางกลุ่มกำลังจะสร้างไหม
...เราก็เริ่มเห็นตรงนี้เลย แต่เราก็ยังคิดว่าเรายังพอสู้ได้ คือภาคเอกชน เขามีอาวุธ คือมีเงินที่จะจ้างหมอให้มาทำงานในโรงพยาบาลเอกชนด้วยค่าตอบแทนที่สูง การให้ความสะดวกสบาย แต่ภาครัฐการจะป้องกันไม่ให้หมอเคลื่อนจากภาครัฐหรือจากชนบทเข้าไปอยู่ในเมือง อาวุธที่ภาครัฐมีคือเงินเดือนที่ให้ มันแตกต่างกันเยอะมากกับที่โรงพยาบาลเอกชนเขาให้
P4P-ชอร์ตแพทย์ชนบท
พูดมาถึงตรงนี้ "นพ.เกรียงศักดิ์" ชี้ให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะแก้ปัญหา "สมองไหล-การถูกซื้อตัว" ของแพทย์ชนบท ไม่ให้ลาออกไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งวิธีที่ได้ผลคือ การที่ภาครัฐมีเงินก้อนหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า ค่าตอบแทนแบบอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวพื้นที่ทุรกันดาร หรือ "เบี้ยทุรกันดาร" ซึ่งเมื่อดูจากสถิติพบว่าทำให้แพทย์ชนบทลาออกน้อยลง แต่ "หมอเกรียงศักดิ์" กำลังบอกว่าหลังจากใช้ P4P สิ่งที่เคยทำกันไว้จะพังครืนกันหมด แล้วฝ่ายที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือ รพ.เอกชน
...ก่อนหน้านี้มันเหมือนกับเอาปืนใหญ่ไปสู้กับรถถัง ถ้าดูจากสถิติแพทย์ชนบทพบว่าในปี 2551 มีแพทย์ชนบทอยู่ประมาณ 2,600 คน จากแพทย์ทั้งหมดที่มีอยู่ 35,000 คน โดยแพทย์เหล่านี้กระจายอยู่ในโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดตามชนบท 723 แห่ง คอยดูแลประชาชน 40 ล้านคน คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ และยังพบว่าในแพทย์ชนบท 2,600 กว่าคน เป็นแพทย์ที่อยู่ระหว่างการใช้ทุนรัฐบาล คือทำงานไม่ถึง 3 ปีถึง 2 พันคน อันหมายถึงว่ามีหมอที่ทำงานมาเกินกว่า 3 ปีอยู่ในชนบทแค่ 600 กว่าคนที่ต้องดูแลประชาชนทั่วประเทศ หน้าที่ของรัฐบาลคือ ต้องทำให้ประชาชน 40 กว่าล้านคนในต่างจังหวัดได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง ได้มาตรฐาน เสียค่าใช้น้อย
...ต่อมาก็เลยมีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้มาตรการต่างๆ เช่นเปลี่ยนอาวุธ เปรียบเทียบให้เห็นก็เช่น อย่างแทนที่จะสู้ด้วยปืนธรรมดาก็เป็นปืนแหนบทองคำ ซึ่งแหนบทองคำก็คือการสะท้อนคุณค่าและศักดิ์ศรี ว่าคุณเป็นหมอที่เสียสละ เป็นหมอที่มีศักดิ์ศรี ซึ่งก็คือเงินค่าตอบแทนการทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร หรือเบี้ยงเลี้ยงเหมาจ่าย-เบี้ยเลี้ยงกันดาร
...ผลของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก็มีหมอชนบทเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,700 คน มาเป็น 4 พันคนภายในแค่ 4 ปี จากเดิมเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 47 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพวกแพทย์เฉพาะทางที่จบแพทย์มาแล้วไปเรียนต่ออีก 3 ปี ถ้าเรียนจบมาแล้วค่าตอบแทนค่าตัวจะสูงมาก อย่างรุ่นน้องผมเพิ่งเรียนจบ มีโรงพยาบาลเอกชนมาทาบแล้ว บอกว่าถ้าไปอยู่ด้วยจะให้ 3 แสน 5 หมื่นบาท แต่ถ้าอยู่โรงพยาบาลรัฐต่อก็ได้ 15,000 บาท
...ความแตกต่างตรงนี้มันเหมือนเอาหนังสติ๊กไปสู้กับปืนใหญ่ เงินเบี้ยทุรกันดารมีอยู่ไม่มาก แต่เขาก็มาบอกว่ามีเยอะเกินไป มันมีไว้เพื่อสู้กับทุนนิยมได้ เพื่อให้หมอชนบทอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ก็ในเมื่อรัฐเสียภาษีผลิตแพทย์ต่อคนประมาณ 3 ล้านบาท หมอมี 3 หมื่นกว่าคนก็ 9 หมื่นล้านบาท
"ตรงนี้จะหายไปให้กับโรงพยาบาลเอกชนฟรีๆ โดยที่เอกชนไม่ต้องจ่ายเลย แล้วไหนจะผลิตแพทย์เฉพาะทางอีก ต่อคนก็ใช้ประมาณ 3 ล้านบาทอีก ก็กลายเป็นคนละ 6 ล้านบาท ก็เป็นแสนล้านบาท เอกชนก็จะได้ไปโดยไม่ต้องทำอะไรเลย แค่มาช้อนไป แล้วทำไมจะต้องเสียไป 9 หมื่นล้านบาท ทำไมแค่จะเสียเงินแค่พันกว่าล้านบาทเพื่อให้พวกหมอชนบทอยู่ต่อไป ซึ่งมันเห็นแล้วว่าก่อนหน้านี้มันใช้ได้ผล ในเวลาแค่ 4 ปีทำให้หมอที่อยู่ในชนบทในพื้นที่ทุรกันดารอยู่ได้ไม่ลาออกไป เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ 46 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เรากำลังต่อสู้กับกลไกการตลาดของเอกชน ที่เราขาดบุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งแทนที่เจ้ากระทรวงจะบอกกับรัฐบาลว่า พวกเราที่เป็นลูกน้องทำงานดีมาก ควรให้กำลังใจ แต่กลับมาบ่นมาด่าเราว่าพวกเราไม่ทำงาน ไม่มีศักดิ์ศรีในการรับเงินค่าตอบแทน แล้วก็มาวางแผนวางยากัน จะมาปลดอาวุธที่ทำให้พวกหมอชนบทอยู่ได้ออกไป แล้วจะมาใช้ระบบ P4P เอาระบบนับแต้มมาใช้"
นพ.เกรียงศักดิ์ยกกรณีความสำเร็จของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ว่าที่สำเร็จได้เพราะหมอชนบทคอยช่วยสนับสนุน แต่วันนี้ระบบ P4P กำลังจะทำให้ 30 บาทรักษาทุกโรคทำต่อไม่ได้
...เพราะอาจจะไม่มีหมออยู่ใน รพ.ชุมชนรักษาคนไข้ยากจน ทักษิณ ชินวัตร ลืมตาอ้าปากได้จากที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทำได้ ถามว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมันเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าไม่มีคนช่วยทำ ถ้าไม่ใช่พวกแพทย์ชนบทที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนสนับสนุนเต็มที่ ไม่เคยออกมาต่อต้านเลย ไม่เหมือนตอนแรกๆ ที่พอมี 30 บาทก็ออกมาใส่ปลอกแขนดำ เราไม่เคยทำเลย
...แต่วันนี้ทำไมทักษิณปล่อยให้คนคนนี้มาทำลายระบบของตัวเอง มาทำลายคนที่ตั้งใจทำงานสร้างผลงานให้กับคุณ เราจึงติดป้ายสโลแกนในโรงพยาบาลแต่ละแห่งว่า 30 บาท ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย
พูดกันไปพลาง "หมอเกรียงศักดิ์" ก็งัดเอาเอกสารเป็นตารางสถิติการตรวจรักษาคนไข้ของหมอใน รพ.ชุมชนออกมาให้ดู เสมือนต้องการงัดกับฝ่ายผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกว่าพวกแพทย์ชนบทไม่ทำงาน
...ถ้าดูสถิติตัวเลขต่างๆ ที่ตรวจสอบได้ ภาระงานเราไม่ได้เบากว่าที่อื่นเลย แต่เราก็ไม่อยากบอกว่าภาระงานเราหนัก แต่อยากถามว่าทำไมต้องมาว่าเราว่าภาระงานเราเบา มาหาว่าเราไม่ทำงาน ไม่มาดูข้อมูลกันเลย
...ถ้าหมอในโรงพยาบาลชุมชนไม่ทำงาน ป่านนี้ชาวบ้านเขาเดินขบวนขับไล่กันหมดแล้ว ถ้าไม่ทำงานจริง 30 บาทรักษาทุกโรคขายไม่ได้หรอก เพราะชาวบ้านที่ถือบัตรทองส่วนใหญ่อยู่ในชนบท วันนี้จะมาใช้ระบบ P4P โดยปลดอาวุธเรา วันนี้หมอทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 44,000 คน อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 4 พันคน เห็นได้ว่ามันดีขึ้น
- นัดหมายของชมรมแพทย์ชนบทที่นัดคุยกันในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เพื่อจะคุยหรือเคลื่อนไหวอะไร?
วันที่ 9 เม.ย. เอาแกนนำมาคุยกัน เพราะวันนี้โจทย์เรามันต้องไปให้ไกลกว่าจะให้รู้แค่ในวงผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ สังคมยังไปเข้าใจว่าเราออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง เราก็ต้องเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาบอกกับน้องๆ (หมอชนบท) ให้รับทราบ แล้วกลับไปสื่อสารบอกกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าหากทำนโยบาย P4P ต่อไป ใครกันแน่ที่จะเดือดร้อน เพราะพอหมอถูกปลดอาวุธไป เขาก็ออกไปถือปืนใหญ่ อย่างหมอที่โรงพยาบาลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง ขอนแก่น ที่ลาออกไป 2 คน เขาก็คงไปอยู่กับคลินิกเอกชน อาจจะไปอยู่กับคลินิกเสริมสวยความงามได้เดือนละ 2 แสน
ตอนนี้เรากำลังรอให้คำสั่งศาลปกครองออกมาก่อน ถ้าคำสั่งทางปกครองออกมา เราก็จะได้ไปฟ้องศาลปกครองได้ว่านโยบาย P4P เป็นการออกมากระทบกับประชาชนตามมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน รวมถึงกระทบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 (2) ที่ว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
รวมถึงการยื่นให้หน่วยงานอื่นๆตรวจสอบ เช่น กรรมาธิการของวุฒิสภา รวมถึงการดูเรื่องการยื่นถอดถอน รมว.สาธารณสุข จากการทำผิดรัฐธรรมนูญตามที่บอกไว้ เพราะเป็นการออกนโยบายที่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์ในการได้รับการบริการด้านสาธารณสุข
ทั้งที่เราได้เตือนแล้ว แต่คุณยังดันทุรังที่จะทำ เพราะเมื่อหมอลาออกกันไป ถามว่าประชาชนที่จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลจะทำอย่างไร จากเดิมที่เคยมีหมอดูแล แต่วันดีคืนดีหายไปเพราะเขาลาออกแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมีหมอมาอยู่เมื่อไหร่ ที่มีหมอลาออกตอนนี้เป็นการลาออกเพิ่มเติม ไม่ใช่ที่รัฐมนตรีปากกล้าขาสั่นว่าตัวเลขหมอลาออกเป็นตัวเลขเดิม เพราะหมอที่บ้านฝางเขาบอกเลยว่าเขาลาออกเพราะเรื่อง P4P ตรงๆ เราก็ไม่มีสิทธิ์โทษเขา เพราะเขาก็ทำตามกติกาคือยอมเสียค่าปรับ ต้องโทษรัฐ
วันนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราก็มีหน้าที่สื่อให้ชาวบ้านรู้ เขาก็อาจเข้าใจได้ว่า นโยบายที่ออกมาเป็นการเอาเงินภาษีประชาชน 9 หมื่นล้านบาทที่ผลิตหมอ และสุดท้ายจะไปเอื้อให้กับเอกชน ที่วันนี้มีการไปตั้งโรงพยาบาลกันไว้แล้วทั้งที่อุดรธานี, หนองคาย, ขอนแก่น เพราะพอหมอจะลาออก พวกโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จะมาเอาตัวหมอเหล่านั้นเอง
เรากำลังตกหลุมพรางเขา พวกนี้ก็ได้หมอดีๆ ไปอยู่ด้วยกับเขาหมด แล้วสุดท้ายใครเดือดร้อน เมื่อชาวบ้านไปที่โรงพยาบาลชุมชนแล้วพบว่าโรงพยาบาลไม่มีหมอเก่งๆ เลย ชาวบ้านที่มีเงินก็ต้องไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชน เอกชนก็ขูดรีดกำไร เราออกมาเพื่อบอกว่า หากทำนโยบายนี้ต่อไปชาวบ้านจะเดือดร้อน ฐานเสียง 30 บาทของรัฐบาลก็จะหายไป พวก ส.ส.เสื้อแดงที่อยู่ในต่างจังหวัดแล้วได้อานิสงส์ของ 30 บาทรักษาทุกโรค กำลังจะโดนหมอประดิษฐทำลายฐานเสียง เพราะนายกรัฐมนตรีต้องการอุ้มเขาคนเดียว.
รักษาไข้แข่งเก็บแต้มไม่ได้
เหตุผลที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขใช้ P4P ข้อหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานการดูแลคนไข้ แต่กลุ่มแพทย์ชนบทเห็นแย้งสิ้นเชิง "หมอเกรียงศักดิ์" ยกเหตุว่า การรักษาผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องการแข่งขันเก็บแต้มทำคะแนนเพื่อหวังค่าตอบแทน แต่เป็นเรื่องการรักษาคนไข้ที่เป็นเรื่องคุณภาพ-จริยธรรม
...การให้มีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เราเลียนแบบมาจากอังกฤษ ที่อังกฤษนอกจากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแล้ว เขาก็มีเงินอีกก้อนหนึ่งที่เป็นการให้โดยดูจากผลลัพธ์
เช่น ถ้ามีผู้ป่วยไปนอนโรงพยาบาล ถ้าหมอเก่งต้องไม่เลี้ยงไข้ ต้องรักษาทีเดียวแล้วหายขาดห้ามกลับมาอีก ถ้าเป็นแบบนั้นคุณจะได้รางวัล แต่ถ้าสมมุติว่าหมอรักษาไม่ดี รักษาไม่หายขาด กลับมาอีกบ่อยๆ โรงพยาบาลในอังกฤษจะลงโทษ
.แต่บ้านเราจะได้รางวัล เพราะถ้าคุณกลับมารักษาอีก 5 ครั้ง คุณจะได้ 5 แต้ม เป็นการคิดแบบเชิงกิจกรรม แต่ไม่คิดเชิงคุณภาพ มีงานวิจัยของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้วว่า P4P ผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ทำให้เกิดความขัดแย้งในวิชาชีพเดียวกัน เช่น ในห้องตรวจโรงพยาบาลชุมชนจะมีหมอแค่ 2-3 คน ถ้าใครเบี้ยวไม่ทำงาน เขาจะตรวจสอบกันเอง เพราะไม่ได้มีหมอตรวจกันทีเป็นร้อยคนที่จะไม่รู้ว่าใครเบี้ยว
.แล้วการใช้ระบบจดแต้มก็ทำให้เกิดการเมกข้อมูล เพราะถ้าไม่เมกก็อยู่ไม่ได้ เช่นหมอฟัน คุณขูดหินปูนแค่ 2 ซี่ ทันตแพทย์คนหนึ่งก็ลงว่า 2 ซี่ แต่ทันตแพทย์อีกคนไปลงรายงานว่า 32 ซี่ ชาวบ้านจะไปรู้ไหม ทุกคนก็จะขยันกันเมกข้อมูลกันหมด ก็เกิดความขัดแย้งในวิชาชีพ
"ทำให้หมอมองผู้ป่วยเหมือนชิ้นงาน เพราะหมอบอกไม่ได้ว่าวันหนึ่งๆ เราจะตรวจคนไข้ได้กี่คน อย่างถ้าโรงพยาบาลหนึ่งมีหมอสองคน คนแรกตรวจเร็วมาก ตรวจได้วันละ 20 ราย แต่อีกคนใช้เวลาเท่ากัน แต่ตรวจละเอียดมาก ตรวจได้ 5 รายต่อวัน หมอทั้งสองคนก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะไปเจอระบบคัดกรอง นางพยาบาลก็จะรู้ว่าอ้าวคนไข้คนนี้ ถ้าส่งไปให้หมอคนแรกที่ตรวจเร็วตรวจมีหวังโรงพยาบาลแตก เขาจะโวยว่าไม่เห็นตรวจอะไรเลย แค่หนึ่งนาทีเสร็จแล้ว เขาก็ส่งผู้ป่วยไปให้หมอคนที่สองที่ใช้เวลาตรวจละเอียด
แต่ถ้าใช้ระบบ P4P หมอที่ตรวจละเอียดเขาก็จะได้แค่ 5 แต้มต่อวัน แต่คนแรกได้ 20 แต้มต่อวัน แบบนี้หมอที่ตรวจช้าคนที่สองตายไหม ก็ต้องถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ เพราะสุขภาพมันวัดเป็นชิ้นงานไม่ได้ มันเป็นเรื่องของคุณภาพที่คุณจะมอง เป็นการวัดแบบเครื่องจักรไม่ได้ ก็ทำให้หมอที่ตรวจช้าละเอียดก็ต้องปรับการทำงานใหม่ ก็ตรวจแบบเร็วๆ ไปเลย คุณภาพก็จะไม่มี"
.สิ่งที่เราออกมาไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หมอที่ออกไป 3-4 คนก่อนหน้านี้เขาไม่ได้เดือดร้อน เพราะเขาไปเอกชนเขาก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ประชาชนจะเดือดร้อนเมื่อเจ็บป่วยแล้วไปหาหมอที่โรงพยาบาลชุมชน แต่กลับไม่มีหมอมารักษา อันนี้เป็นความมั่นคงของระบบสุขภาพประเทศเลย
- ก่อนหน้านี้ที่บอกว่าทางแพทย์ในกลุ่มจะมานัดหารือกันที่กรุงเทพฯ ช่วง 9-11 แล้วอาจจะมีการลาหยุดงานกันในพื้นที่เป็นอย่างไร?
ที่เราบอกว่าจะมาที่กรุงเทพฯ 9-11 แล้วจะมีการหยุดงาน เราต้องการชี้ให้เห็นสภาพสถานการณ์จำลองว่าหลังมีการใช้นโยบาย P4P มันจะเกิดเหตุแบบนี้ แต่จะเกิดชั่วนาตาปี เราก็เลยบอกว่าลองนึกดูสิ ถ้า 9-11 เมษายน แค่มีคนลาคุณรู้สึกอย่างไร ที่จะไม่มีหมออยู่ 2-3 วัน แล้วถ้าหากขาดหมอกันเป็นหลายปี ซึ่งผมพูดตรงๆ โอกาสที่หมอจะกลับมาเชื่อภาครัฐในการให้เขาอยู่ต่อแทบไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่หมอประดิษฐทำให้กับบ้านเมืองนี้
คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องไล่ เราต้องไล่ เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้เลย เขาจบมาก็อยู่แต่ในกรุงเทพฯ แล้วก็ลาออก เขาเลยไม่เห็นคุณค่าของการที่ต้องมีหมอไปอยู่ในชนบท จากที่เรากำลังทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่เขากลับมาเหยียดหยามเราทั้งที่ไม่ใช่เงินเขา แต่เป็นเงินที่รัฐติดอาวุธให้กับเราเพื่อสู้กับระบบทุนนิยมของระบบเอกชน ซึ่งก็ไม่ได้มาก เทียบไม่ได้กับของเอกชน เทียบแล้วการใช้งบตรงนี้ 3,000 กว่าล้าน แต่ดูแลประชาชนได้ 40 กว่าล้านคน ถามว่าคุ้มไหม
คนจ่ายเงินไม่ใช่รัฐมนตรี แต่ต้องถามประชาชนว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ดูทางอ้อมก็ได้ พรรคเพื่อไทยเลือกตั้งมากี่ที เรื่อง 30 บาทเป็นปัจจัยเดียว คนบ้านนอกเลือกเขาเพราะ 30 บาทเรื่องเดียวเลย ต้องไปถามประชาชนว่ายินดีจ่ายไหม แล้วคุณเป็นใครมาตัดสินใจแทนประชาชน
- คิดว่า P4P ตัวหมอประดิษฐคิดเองไหมในการผลักดันเรื่องนี้?
ผมคิดว่าหมอประดิษฐรู้ตัวดีว่ามีเวลาไม่นาน จึงต้องการแสดงฝีมือว่าสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ เขาจะทำให้ดู เช่น การปฏิรูปอะไรต่างๆ ทำไม่ได้หรอกถ้าแบ็กอัพไม่ดีพอถึงระดับนายกรัฐมนตรี ถามว่ามีเบื้องหลังไหมในส่วนที่จะเกี่ยวโยงกับ Medical Hub เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ผมก็ต้องสงสัยว่ามีส่วน เพราะมีผู้ใหญ่คนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ในยุคที่พรรคเขารุ่งเรือง หัวเรือใหญ่ในพรรคเอาเอกสารมาให้ผู้ใหญ่คนหนึ่งอ่าน ที่พบว่ามีการอ้างถึงโปรเฟสเซอร์ว่าถ้าเขาต้องการยึดสัมปทานอะไรต่างๆ จะต้องทำอย่างไร
ในนั้นมีเรื่องสัมปทานเรื่องสุขภาพด้วย และในเอกสารเล่มนั้นมีการขีดเส้นใต้ไว้ว่า ในประเทศไทยมีผู้พิทักษ์ระบบสุขภาพที่แข็งแรงคือเครือข่ายแพทย์ชนบท ซึ่งมันรวมถึงองค์กร ส.ต่างๆ เป็นไปได้อย่างไร ประเทศไทยที่แทบไม่มีอะไรเลย แต่มาตั้งต้นทำ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว เงินก็มีน้อย ถ้าไม่ใช่เพราะเครือข่ายแพทย์ชนบทก็อยากจะทำ
ถามว่าวันนั้นถ้าขาดแพทย์ชนบทจะทำสำเร็จไหม ก็ไม่มีทาง ตอนนั้นมีหมอที่อื่นใส่ปลอกแขนดำกันแล้ว แต่ผมคิดว่าเครือข่ายที่คิดทำเรื่องนี้ เขาคิดว่าองค์กร ส.อะไรต่างๆ มีการส่งท่อน้ำเลี้ยงให้บางกลุ่ม เช่น สื่อมวลชน ก็เลยจะเข้ามาจัดการ โดยไม่สนใจว่าชาวบ้าน เอ็นจีโอจะคิดอย่างไร แพทย์ชนบทเราไม่เคลื่อนไหวถ้าไม่จำเป็น เราเคลื่อนไหวต้องมีความหมายทุกครั้ง แต่วันนี้เคลื่อนไหวยาก เพราะทุกคนจ้องมองว่าเราเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเองใช่ไหม เพราะเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่เข้าใจยากในการสื่อสารกับคนภายนอก
- จะเผชิญหน้ากับ รมว.สาธารณสุขแบบนี้ จะยืดเยื้อไหม?
ก็ต้องต่อสู้แบบคนไม่มีอำนาจ สู้แบบอารยะขัดขืน เพราะก็ถูกสั่งสอนมาว่าถ้าผู้มีอำนาจสั่งการอะไรมาที่ไม่ชอบก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม คนที่ออกคำสั่งไม่ชอบ เจอหน้าเราก็ไม่คุยไม่ยกมือไหว้ เรามีสิทธิ์ใส่ชุดดำ มีสิทธิ์ติดป้าย 30 บาท ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย เขาก็มีสิทธิ์ฟ้องผมนะ ผมก็ยินดี ถ้านายกฯ ยังปล่อยให้หมอประดิษฐทำลาย ก็ถือว่านายกฯ สมคบคิด นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย
- การออกมาครั้งนี้ของชมรมแพทย์ชนบทรู้สึกโดดเดี่ยวไหม?
ผมว่าไม่ เคยเห็นแพทย์ชนบทออกมาแล้วมีคนเยอะขนาดนี้ ไม่เคยเลย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 7 เมษายน 2556
- 59 views