หนึ่งในข้อเรียกร้องที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทเคลื่อนไหวต่อเนื่องช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดองค์การเภสัชกรรมที่ปลด "นพ.วิทิต อรรถเวชกุล" ออกจาก ผอ.องค์การเภสัชกรรมเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีเรื่องยาพาราเซตามอล และกรณีโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จนมีการนำเรื่องนี้ไปหารือกับ นพ.ประดิษฐ รมว.สาธารณสุข ในการคุยนอกรอบระหว่างแพทย์ชนบท-ตัวแทนสหภาพองค์การเภสัชกรรมกับ นพ.ประดิษฐ เมื่อ 4 มิ.ย.56 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ซึ่งเบื้องต้นมีข้อสรุปว่าจะให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้
"นพ.วิทิต" ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมฟ้องศาลปกครองหลังถูกบอร์ด อภ.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง โดยย้ำว่าทั้งหมดที่เกิดกับตัวเองเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
...ความจริงผมคิดว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ เรียกว่ามีการวางแผนจัดการมาเป็นขั้นตอน เมื่อมองย้อนหลังกลับไป มันไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ใครสักคนไปเจอไปตรวจเจอ หรือใครสักคนคิดว่ามีอะไรผิดปกติแล้วไปเจอ มันไม่ใช่ แต่เป้าหมายคือต้องการเปลี่ยนเอาผมออกไปเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดมาแล้วกับองค์กรภาครัฐหลายแห่ง เช่น บริษัท การบินไทย, กรมประชาสัมพันธ์ ผมก็คิดว่าตัวผมเองก็อยู่ในกลุ่มที่ขบวนการที่มีจะให้มีการจัดการ
- เริ่มจับกระแสสัญญาณจะถูกเปลี่ยนตัวเมื่อไหร่?
ความจริงผมไม่เคยระแวงเลย เพราะผมทำงานกับ รมว.สาธารณสุขคนนี้ (นพ.ประดิษฐ) มาก็เป็นคนที่ 9 แล้ว ผมก็มีความชัดเจนในการทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลทุกรัฐบาล บางรัฐบาลต้องการให้องค์การช่วยในเรื่องการให้คนไทยเข้าถึงยา เรื่องซี/แอล เราก็ตอบสนองอย่างดีเพื่อให้คนไข้เข้าถึงยา ทุกนโยบายก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่จะมองมุมใคร มองในด้านยาข้ามชาติหรือชีวิตคนไทยเราก็ตอบได้หมด
- เตรียมหารือฝ่ายกฎหมายสู้คดีอย่างไรบ้าง รวมถึงในชั้นการชี้แจงกับ ป.ป.ช.?
ก็ดูว่าอันไหนที่เราโดนกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการออกคำสั่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ฝ่ายทนายความนักกฎหมายที่มาช่วยก็กำลังเริ่มศึกษาอยู่ ก็ต้องรอเอกสาร เช่น เอกสารในการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะยื่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ก็อย่างที่เราทราบ ดีเอสไอก็สอบสวนแบบรวบรัดและรวดเร็ว รวมถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมาก็ต้องดูว่าเขาบอกว่าผมผิดตรงไหน มีอะไรบ้าง ก็ยังไม่เคยเซ็นรับทราบความผิด
ก็รอดูเอกสารทั้งหมดก่อน ก็จะไปที่ศาลปกครอง เพราะสัญญาจ้างของผมเป็นของภาครัฐ ตอนนี้ก็ทำเรื่องทวงถามไปที่องค์การเภสัชกรรม ประธานบอร์ด อภ.ว่าผลการสอบสวนของผมทั้งหลายยังไม่เห็นเลย ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์กลับเป็นเรื่องเป็นราวเลย แต่ผมเมื่อฟ้องศาลไปแล้วจะออกมาอย่างไรก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ผมไม่ขอพูดอะไร
- ที่เคยบอกเรื่องสงครามยังไม่จบ ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ คือยังไง?
ความหมายที่พูดคือ หมายถึงคนที่เจตนาดีเจตนาร้ายก็แล้วแต่ มันต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เพื่อดูว่าสิ่งที่เราทำ มันจะเป็นสิ่งที่ดีกับบ้านเมืองหรือเปล่า หรือขบวนการที่เขากำลังทำกันอยู่จะเกิดสิ่งที่ดีกับบ้านเมืองหรือเปล่า ทั้งหมดต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่คงอีกนาน เผลอๆ ผมจบชีวิตก่อน หรือไม่ก็เขาจบชีวิตก่อน หรือใครที่เกี่ยวข้องจบชีวิตก่อน ก็ไม่มีใครรู้ จบกันก็จบเรื่อง แต่ถ้าเรื่องยังไม่จบก็คงได้เห็นกันว่า ใครเจตนาดีต่อบ้านต่อเมือง
- กรณีนี้มีการเมืองอยู่เบื้องหลังไหม?
อันนี้การเมืองเต็มๆ อยู่แล้ว มาถึงตอนนี้มันชัดทุกอย่าง
ข้าราชการยุคนี้ถ้าคุณอยากอยู่รอด อยู่จนครบเกษียณอายุราชการ อยู่จนครบสัญญาจ้าง คุณก็ต้องตอบสนองเขา ทั้งที่อาจจะขัดกับอุดมการณ์ในใจของตัวเอง แต่ทุกยุคทุกสมัยก็เป็น คือคุณก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะยอมหรือเปล่า ยอมในสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของตัวเองหรือเปล่า เช่น ยอมขัดกับอุดมการณ์ที่มีตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ผมไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด มันเป็นแนวคิดที่หลากหลาย คนหนึ่งก็เชื่อแบบหนึ่ง อีกคนก็เชื่ออีกแบบหนึ่ง แต่ความเชื่อที่คุณเคยเชื่อและมั่นใจมาตลอดชีวิต คุณจะยอมทำในสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจเดิมของคุณหรือเปล่า คนที่มีแนวคิดคล้ายกันก็ถือว่ามีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มความเชื่อก็มีความคิดของตัวเอง ก็ไม่มีใครผิดใครถูก แต่ผมคิดว่าก็ต้องไม่ฝืนตัวเรา ถ้าเห็นว่ามันไม่ใช่
ตอนนี้ก็มีคนเป็นห่วง เช่น เรื่องบริษัทยาข้ามชาติ เรื่ององค์การจะอ่อนแอลงไปหรือเปล่า จะทำให้บริษัทยาข้ามชาติหรือบริษัทยาในประเทศก็ดีฉวยโอกาสขึ้นราคายา หรือองค์การเองก็จะไม่สามารถออกยาใหม่ๆ มาตอบสนองคนไข้ แพทย์ โรงพยาบาลที่ต้องการใช้ยาได้ เพราะการออกยาบางตัวขององค์การเภสัชกรรมก็จะทำให้ราคายาในตลาดถูกลงมาก เช่น ยาบางตัวตลาดขายเม็ดละ 30 บาท แต่องค์การเภสัชกรรมยุคของผมทำมาแค่เม็ดละ 3.50 บาทเอง แล้วต่อไปหลังจากนี้มันจะมีอีกหรือเปล่ายาแบบนี้ ถ้ามีออกมาเรื่อยๆ คนไข้ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงยา คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น
- เป้าหมายของคนที่ต้องการจะเข้ามาคุมองค์การเภสัชกรรมหลังจากนี้คืออะไร?
ก็เปลี่ยนผม อันนี้ขั้นที่หนึ่งชัดเจนแล้ว ก็สำเร็จแล้ว จบแล้ว ขั้นต่อไปผมก็ไม่ทราบ
- ฟังจากที่พูดเหมือนกับเจอแรงปะทะหลายอย่าง ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจในช่วงก่อนหน้าจะโดนปลด?
มันก็มีเข้ามามากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่ใช่ยุคแรกที่เป็นแบบนี้ ส่วนการทำงานกับรัฐมนตรีคนอื่นก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีอะไร เขาอยากเร่งอะไรก็ไปบอกกับบอร์ดองค์การ เช่นว่าอยากให้เร่งทำอะไร แต่ส่วนมากก็เป็นลักษณะการเข้ามาช่วยเสริมช่วยบอกว่าทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นช่วยกันแก้ปัญหา ตัวผมกับบอร์ดชุดนี้ก็ไม่ได้มีอะไร เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการประจำในกระทรวง พวกอธิบดีอะไรต่างๆ ยุคนี้ก็เป็นยุคที่บอร์ดเป็นข้าราชการประจำเยอะที่สุด
"ก่อนหน้านี้ตัวผมกับหมอประดิษฐก็คุยกัน ทั้งเรื่องพาราเซตามอล เรื่องอะไรก็คุย แต่คุยกันแล้ว อืมมมม (คิดนาน) มันอธิบายไม่ถูก คืออธิบายไปในคำถามหนึ่งจบแล้ว ก็มีคำถามอีกคำถามมาใหม่ แล้วก็มีคำถามใหม่เกิดตลอดเวลา แบบนี้ก็ไม่จบ ก็ไม่รู้ว่าจะจบกันที่ไหน ซึ่งจริงๆ ท่านจะตั้งคำถามกับผมผ่านมาทางบอร์ดองค์การเภสัชกรรมก็ได้ ผ่านมาทางผมก็ได้ ก็คุยนะ แต่ท่านก็เลือกใช้วิธีส่งเรื่องไปที่ดีเอสไอเลย ตัวผมเองก็ได้คุยกันกับ รมต.ประดิษฐ ก่อนไปส่งเรื่องที่ดีเอสไอ จริงๆ แล้วคุยกันก่อนที่ท่านจะเป็นรัฐมนตรีด้วย"
- หมายถึง นพ.ประดิษฐเริ่มลงมาดูเรื่องพวกการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ตั้งแต่ตอนเป็นทีมงานที่ปรึกษาคุณวิทยา ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเลยด้วย?
ใช่ คุยเรื่องโรงงาน แต่ว่าไม่ได้ทำเป็นทางการ คือไม่ได้ยื่นหนังสือเข้ามาทางบอร์ดองค์การเภสัชกรรม เช่น ให้บอร์ดเร่งรัดอะไร ในการปรึกษาหารือกันก็ไม่ได้บอกว่าจะช่วยกันหาทางออกกันอย่างไร ให้ปัญหามันจบเร็ว แต่กลับบอกว่าเราต้องหาคนผิดคนถูกให้ได้ก่อน
- พูดกันไปว่าส่วนหนึ่งที่โดนเล่นงาน เพราะไปขวางผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ?
ความจริงตั้งแต่เริ่มเราก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องการให้คนไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นมากขึ้น เมื่อองค์การผลิตยาอย่างพวกยารักษาโรคเบาหวานอะไรได้ ถามว่ากระทบกับเขาไหม ก็กระทบอยู่แล้ว ถูกกับแพง เมื่อไปเจอกันในตลาด ก็เหมือนคู่แข่งกันอยู่แล้ว ส่วนแบ่งตลาดยาเวลานี้ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัทยาต่างชาติ และส่วนใหญ่เป็นยาใหม่ติดสิทธิบัตร ที่เราก็ไปทำอะไรไม่ได้ เพราะติดสิทธิบัตร เขาตั้งราคา 100 บาท คุณก็ต้องซื้อ 100 บาท ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ที่องค์การกับบริษัทอื่นๆ ในประเทศไทย ทุกบริษัทยาเขาก็มีเป้าที่จะโต.
"...หมอประดิษฐเป็นหมากตัวหนึ่งที่มีกลุ่มคนเบื้องหลังชักใย ผมมองว่าผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง แล้วใช้หมอประดิษฐเป็นตัวพรีเซนเตอร์ในการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ฝ่ายข้าราชการเอาตัวการเมืองมาเป็นคนเดินเกม เดิมทีเราไม่เข้าใจว่าใครเป็นเครื่องมือใครกันแน่ แต่วันนี้ผมรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าข้าราชการเป็นใหญ่..."
"...มีการวางแผนจัดการมาเป็นขั้นตอน การเมืองเต็มๆ อยู่แล้ว มาถึงตอนนี้มันชัดทุกอย่าง ข้าราชการยุคนี้ถ้าคุณอยากอยู่รอด อยู่จนครบเกษียณอายุราชการ อยู่จนครบสัญญาจ้าง คุณก็ต้องตอบสนองเขา ทั้งที่อาจจะขัดกับอุดมการณ์ในใจของตัวเอง..."
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 มิถุนายน 2556
- 162 views