การเดินทางมาทำงานใช้ทุน 3 ปีที่โรงพยาบาลใน จ.ศรีสะเกษ หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ 2530 ทำให้ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต เห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การโยกย้ายต่อเนื่องทำให้การรักษาคนไข้ชะงัก ถือเป็นเหตุผลหลักที่ตัดสินใจทำงานต่อที่โรงพยาบาลแห่งนั้น
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นพ.กิติภูมิ ทำงานมาแล้ว 3แห่งคือ ที่โรงพยาบาลห้วยทับทัน โรงพยาบาลยางชุมน้อย ต่อมาปี 2539 เริ่มงานที่โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ จนถึงปัจจุบันในฐานะผู้อำนวยการ
นพ.กิติภูมิเล่าว่า แพทย์ชนบทเป็นงานที่หนักเพราะมีแพทย์จำนวนน้อย บางรายทำงานเพียง 1-2ปี จากนั้นย้ายไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า
"โรงพยาบาลภูสิงห์ เป็นพื้นที่ทุรกันดารระดับที่ 2 คือ มีพื้นที่เป็นป่าเขา ห่างไกลความเจริญ เคยเกิดสถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดน หมอพยาบาล ได้รับเบี้ยเหมาจ่ายรายหัวเป็นจำนวนเงินเหลื่อมมากกว่าพื้นที่ปกติจำนวน 2 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับอายุการทำงานและพื้นที่ในการทำงาน ทำให้มีบุคลากรทำงานในชนบทเพิ่มขึ้น เช่น โรงพยาบาลภูสิงห์ เคยมีหมอ 2 คน เพิ่มเป็น 4 คน นอกจากจะสร้างกำลังใจให้คนทำงานแล้ว ที่สำคัญคือช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทได้ ส่งผลให้การรักษาคนไข้มีประสิทธิภาพ"
นพ.กิติภูมิ เล่าอีกว่า เบี้ยกันดารจำนวน 7 หมื่นบาท เป็นจำนวนเงินที่จะได้รับในการทำหน้าที่รักษาคนไข้ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้รับเงินจำนวนนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดสรรงบประมาณส่วนของเบี้ยเหมาจ่ายมาให้ มีเพียงงบประมาณดำเนินการของโรงพยาบาล แต่ละแห่งจะได้รับไม่เท่ากัน ขึ้นกับจำนวนประชากร ที่สำคัญงบประมาณ ส่วนนี้ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงเบี้ยเหมาจ่ายที่ต้องให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย เพราะหากไม่จ่ายเงินจำนวนนี้ อาจจะส่งผลให้มีการลาออกได้
ในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรเบี้ยกันดารมาให้ประมาณร้อยละ 25-30 เมื่อปี 2555 โรงพยาบาลภูสิงห์ยังไม่ได้รับการจัดสรร โดยกระทรวงแจ้งให้โรงพยาบาลใช้เงินจากงบประมาณดำเนินการของโรงพยาบาลมาจ่ายค่าเบี้ยกันดาร ส่วนที่หมอยังไม่ได้รับเพราะเห็นว่าเงินที่โรงพยาบาลมีอยู่นั้นมีเพียงเล็กน้อยจึงไม่รับเงินจำนวนนี้ก่อน
"เกรงว่าหากใช้เงินของโรงพยาบาลจะส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จะส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ส่วนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้วยการจ่ายตามภาระงาน เริ่มทดลองนำแบบฟอร์มโดยให้พยายามเป็นผู้เก็บข้อมูลการทำงานรักษาผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2555 เพราะต้องการทราบถึงผลในทางปฏิบัติ แต่ไม่ได้ จ่ายเงินตามระบบภาระงาน เพราะขณะนั้นยังไม่ได้เป็นนโยบายทางโรงพยาบาลไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายด้วย จึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าวิธีการใดที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด"นพ.กิติภูมิระบุ
ด้าน นพ.จีระศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สมาชิกชมรมแพทย์ชนบท เล่าถึงภารกิจประจำวันว่า ตรวจรักษาคนไข้ 2 ส่วน คือ ตรวจรักษาคนในไข้ใน หรือคนไข้ที่มารับการรักษาและต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล กับคนไข้นอกที่รับการรักษาเสร็จกลับบ้านได้เลย สำหรับภารกิจอื่นๆ คือ เข้าเวรในช่วงนอกเวลาราชการอีก โดยทำงานเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. ตรวจรักษาคนไข้ใน จาก นั้นตรวจคนไข้นอกจนถึงเวลา 12.30 น.จึงได้พักกลางวัน ส่วนเวลา 13.30 น.จะให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในการรักษาคนไข้ ควบคู่กับการทำงานในฝ่ายบริหารและเตรียมการสอนนักศึกษาแพทย์ และพยาบาลที่มาฝึกงาน ส่วนรายได้จะมี 3 ส่วน คือ เงินเดือน จะได้ตามอายุงาน ตามระเบียบของราชการ ค่าเข้าเวร และเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเงินส่วนนี้แพทย์ชนบทจะได้ผลตอบแทนมากกว่าแพทย์โรงพยาบาลในเมือง
"การที่กลุ่มแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหวในตอนนี้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับลดค่าตอบแทน แน่นอนว่าจะทำให้แพทย์ชนบทมีรายได้น้อยลง ตรงนี้เป็นปัญหาในแง่ของขวัญและกำลังใจแพทย์ชนบททำงานหนัก การถูกปรับลดรายได้จึงไม่เป็นธรรม" นพ.จีระศักดิ์ ย้ำ
ส่วน นพ.หมัด หีมเหม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา จบการศึกษาในปี 2537 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นไปเป็นแพทย์ชนบทที่โรงพยาบาลควนโดน จ.สตูล 3 ปี ก่อนย้ายมาโรงพยาบาลจะนะ สะท้อนว่า แพทย์ชนบทต้องออกตรวจคนไข้ ซึ่งนอนเปล 60-70 รายต่อวัน ไม่นับรวมกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่ ทั้งยังต้องออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในวันหยุด นอกจากนี้หากมีงานในท้องถิ่น เช่น การแข่งขันกีฬาในชุมชน ต้องการแพทย์สนามก็ต้องออกไปทำหน้าที่ ไม่มีสิทธิเลือก บุคลากรมีน้อย
"มีหมอท่านหนึ่งท่านใดไปประชุมภาระก็จะอยู่ที่เรา ต้องแบกรับภาระ ทั้งเหนื่อยและเครียด งานกดดันแบบนี้ทำให้หมอบางคนลาออกไป หรือไม่ก็ย้ายออกไป อย่างโรงพยาบาลจะนะ มีหมอมาใหม่ 6 คน แต่ในเดือนเมษายนนี้ จะย้ายไปหมดทั้ง 6 คน เพราะภาระที่หนัก รวมทั้งโรงพยาบาลเองยังต้องการพัฒนาอีกมาก ตลอดจนสวัสดิการบ้านพักไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องสวัสดิการส่วนตัวผมไม่อยากจะให้ตัดเพราะนอกจากการทำงานที่หนักสำหรับแพทย์ชนบทแล้ว คนที่จะมาเป็นแพทย์นั้น มีต้นทุนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งเรียนพิเศษ ต้องเรียนในสถานศึกษาที่ดีๆ สวัสดิการถือเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คนทำงานอีกทั้งในปัจจุบันแพทย์ต้องพัฒนาตัวเอง ด้วยมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้มากขึ้น"นพ.หมัดกล่าว
ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช สมาชิกชมรม แพทย์ชนบท เล่าว่า แพทย์ชนบททำงานหนักมาก เพราะเป็นการทำงานในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เขต อ.เมือง อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน แต่ละแห่งจะมีแพทย์เพียง 3 คน ในการทำงานต้องแบ่งหน้าที่กัน โดยเข้าเวรห้องฉุกเฉิน 1 คนตรวจคนไข้นอก 1 คน และตรวจคนไข้ใน 1 คน โดยเข้าเวรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในลักษณะนี้
"รัฐมนตรีบอกว่า หมอที่ไปอยู่อำเภอต้องมีน้ำใจผมขอบอกว่า หมอที่ไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอไม่ได้กินแกลบ ต้องกินข้าว และต้องเลี้ยงครอบครัว เขาต้องทนลำบากกว่าคนอื่นได้อย่างไร สิ่งที่รัฐมนตรีสาธารณสุขกำลังทำอยู่ในขณะนี้คือดูหมิ่นแพทย์ชนบท"นพ.อารักษ์กล่าว
นี่คือภาพการทำงานของแพทย์ชนบท และเสียงสะท้อนในปัญหาสวัสดิการ ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 มีนาคม 2556
- 73 views