แพทย์ชนบทเมินหารือบิ๊ก สธ. เผย 29 มี.ค. ขอพบ รมว.คลังเจรจาหาทางออก ขู่ ครม.ไฟเขียวเล็งฟ้องศาลปกครอง หวั่นสมองไหลทำหมอชนบทขาดแคลน ด้าน'ผอ.รพ.ภูสิงห์'แนะตั้งโต๊ะเจรจา ค้านนัดหยุดงานหวั่นกระทบคนไข้
กรณีกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล โรงพยาบาลในชนบท จำนวนหนึ่ง นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พากันแต่งชุดดำชุมนุม หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำพวงหรีดและ ดอกไม้จันทน์วางหน้าโลงศพและหุ่นจำลองของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อคัดค้านการปรับเปลี่ยนแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ จากค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เป็นคิดตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) อ้างว่า ทำให้แพทย์ชนบทเสียขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งมีการเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ ลาออกนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขอปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจากับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากที่ผ่านมาได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าไม่ต้องการใช้วิธีคิดค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขแบบประเมินตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี เนื่องจากไม่ได้ช่วยในแง่การเพิ่มคุณภาพการบริการ เพราะการคิดแบบพีฟอร์พี จะทำให้มุ่งเน้นการล่าแต้มในการทำคะแนนเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง แพทย์คนหนึ่งวินิจฉัยคนไข้อย่างละเอียดใช้เวลานานราว 15 นาที กับแพทย์อีกคนวินิจฉัยไม่ถึงนาที เพื่อต้องการทำยอดตรวจคนไข้ แบบนี้ยุติธรรมกับคนไข้หรือไม่ เมื่อเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ทาง สธ.ไม่สมควรเสนอเรื่องให้รองนายกฯเพื่อกลั่นกรองเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะถือว่าไม่ถูกต้องกรองเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะถือว่าไม่ถูกต้อง
"ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท และตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนประมาณ 10 คน จะเดินทางเพื่อขอเข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากจะให้พวกเราไปหารือ หรือสร้างความเข้าใจร่วมกับรัฐมนตรี สธ. และปลัด สธ.คงไม่มีประโยชน์อีก" นพ.อารักษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสังเกตว่าการเรียกร้องของชมรมฯ เริ่มไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้มุ่งแค่การปรับค่าตอบแทน นพ.อารักษ์กล่าวว่า เป็นการเรียกร้องภาพรวม ที่เกี่ยวข้องกันหมด เดิมชมรมฯจับตาอยู่ห่างๆ แต่เมื่อนำทุกประเด็นมาเชื่อมต่อกัน ทำให้ทราบว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งการเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทน จะส่งผลต่อขวัญกำลังใจหมอในชนบท ขณะเดียวกันรัฐบาลโดย นพ.ประดิษฐมุ่งสนับสนุน นโยบายเมดิคัล ฮับ ทำให้เชื่อมโยงกันได้ว่าหากแพทย์ในชนบทหมดกำลังใจจะลาออก และไหลไปอยู่ภาคเอกชน สุดท้ายจะส่งผลต่อประชาชนผู้รับบริการ ด้วยเหตุนี้ นพ.ประดิษฐจึงไม่เหมาะสมดำรงตำแหน่งอีก
เมื่อถามว่า การไหลออกของแพทย์โรงพยาบาลชุมชนเพื่อไปเอกชนค่อนข้างยากหรือไม่ เนื่องจากเอกชนส่วนใหญ่จะรับเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นพ.อารักษ์กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชน มีแพทย์เฉพาะทาง 785 คน จากกว่า 3 พันคน ซึ่งการไหลออกไปเอกชนจะเป็นโดมิโน คือ ภาคเอกชนจะดึงแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ก่อน จากนั้นจะไปยังแพทย์ใน รพ.ระดับจังหวัด เมื่อแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดขาดแคลน จะไปดึงแพทย์ระดับอำเภอ ชุมชนแทน สุดท้ายจะไม่มีแพทย์ในชนบทนั่นเอง
นพ.อารักษ์กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ มีการหารือกันว่าหากสุดท้าย ครม.เดินหน้าเรื่องนี้ อาจต้องมีการฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากระเบียบดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิของแพทย์ในเรื่องค่าตอบแทน ส่วนจะมาชุมนุมเนื่องจากระเบียบดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิของแพทย์ในเรื่องค่าตอบแทน ส่วนจะมาชุมนุมทุกวันอังคารหรือไม่นั้น ย่อมมีแน่นอน เพียงแต่อาจหมุนเวียนกันมา เพราะยังต้องทำหน้าที่ดูแลคนไข้
นพ.ประเสริฐ ขันเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากการติดตามผลการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มแพทย์ชนบท เชื่อว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจถึงระบบการจ่ายเงินแบบพีฟอร์พี และยังไม่ทราบรายละเอียดว่าการตัดเบี้ยกันดารจะมีการตัดบางแห่งเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันบางพื้นที่มีความเจริญมากแล้ว อาทิ บางบัวทอง หนองจอก เป็นต้น ดังนั้นหาก สธ.มีการประชาสัมพันธ์ถึงรายละเอียดที่ชัดเจนจะทำให้กลุ่มที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจได้มากขึ้น
นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผอ.รพ.ภูสิงห์ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เคยได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ปี 2553 กล่าวว่า คณะแพทย์ พยาบาลของ รพ.ภูสิงห์ ยังคงปฏิบัติงานกันตามปกติ ได้สอบถาม ไปยังแพทย์ชนบทส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มชุมนุม ให้การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่ไม่ชอบในวิธีการไปเผาหุ่นเพราะเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะเหมาะสม ได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด น่าจะเจรจาตกลงกันได้ด้วยดี เพราะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วย สธ. เคยเป็นแพทย์ชนบทมาก่อนรับทราบปัญหาของแพทย์ชนบทดีอยู่แล้ว ทุกฝ่ายควรถอยคนละก้าวแล้วค่อยเดินหน้าเจรจากันใหม่ ทั้งที่แพทย์ชนบทส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเป้าหมายของการชุมนุม แต่ไม่เห็นด้วยในวิธีการที่เกิดขึ้น
"ผมยังไม่เห็นด้วยที่มีการเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐลาออกจากตำแหน่งเพราะเพิ่งจะเริ่มทำงาน ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ควรให้โอกาสในการทำงาน น่าจะเจรจาพูดคุยกันได้ นพ.ประดิษฐอาจจะได้ข้อมูลไม่เพียงพอจึงได้นำเอา พีฟอร์พี มาใช้ หากมีการประชุมโต๊ะกลม มั่นใจว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแน่นอน การนัดหยุดงานในวันที่ 9 เมษายน เป็นต้นไปไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในช่วงสงกรานต์จะมีคนไข้เยอะมาก แพทย์ พยาบาลทุกคนควรร่วมกันให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วย ไม่ควรใช้วิธีการหยุดทำงานมาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง" นพ.กิติภูมิกล่าว
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมหารือรายละเอียดวิธีการปรับปรุงระเบียบการจ่ายค่าตอบแทน โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นประธาน มีผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกวิชาชีพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเข้าร่วม อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนนั้น มีผู้แทนจากทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ขาดเพียงตัวแทนทั่วไป ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนนั้น มีผู้แทนจากทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ขาดเพียงตัวแทนจากแพทย์เท่านั้นที่ไม่เข้าร่วม
นพ.ณรงค์กล่าวว่า สธ.ได้เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกให้ได้ โดยเชิญทุกฝ่ายให้เข้าร่วมครั้งนี้ ไม่ได้ออกเป็นคำสั่งเพื่อบังคับใคร เพราะเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ หากมีใครไม่เข้าร่วม สธ.จะพยายามเชิญเพื่อให้มาสร้างความเข้าใจกันให้ได้ เพราะยังมีเวลาก่อนจะเสนอ ครม. ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการไหลออกของกำลังคนระหว่างการเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนจะมีการปรับปรุงทบทวนประเมินผลอยู่ตลอด ในส่วนของ รพ.ขนาดกลาง และ รพ.ขนาดใหญ่ มีการปรับเบี้ยเหมาจ่ายลงประมาณ 5,000 บาท ที่สำคัญไม่มีการปรับลดเบี้ยในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งสัดส่วนเงินที่ปรับลดลงจะนำมารวมกันเพื่อนำมาจ่ายแบบพีฟอร์พี ให้คนที่มีภาระงานมากเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในวิชาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟัง เนื่องจากเป็นการหารือรายละเอียดของแต่ละวิชาชีพ อาทิ การแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลแต่ละแห่ง และรายละเอียดของการทำพีฟอร์พี จะคำนวณตามปริมาณ และตามคุณภาพ เช่น การให้บริการคนไข้ จนอาการดีขึ้นจะนับเป็นคะแนนพีฟอร์พี เป็นต้น โดยผลการประชุมดังกล่าวจะนำเสนอเข้าคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน ที่มีรัฐมนตรี สธ. เป็นประธาน ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง ชุดที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 29 มีนาคม เพื่อนำเสนอ ครม.สัญจรต่อไป
นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 เมษายนนี้ จะมีการเชิญ ผอ.รพศ./รพท. หรือผู้รับผิดชอบเรื่องพีฟอร์พีใน รพศ./รพท. มาประชุม เพื่อผลักดันให้ดำเนินการเรื่องพีฟอร์พี ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 มีนาคม 2556
- 10 views