สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับคำว่า “งบขาขึ้น” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ดูแลโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องขออธิบายว่าสปสช. มีงบประมาณ 2 แบบ แบบแรกคือ ขาขึ้น หมายถึง สปสช. ของบประมาณประจำปีกับ ครม. และ แบบที่สองคือ ขาลง หมายถึง สปสช. จัดระบบจ่ายเงินไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ
ปี 2557 เป็นงบประมาณปีที่ 11 ของ สปสช. ครอบคลุมประชากร 49.1 ล้านคน ต้องดีใจว่าทศวรรษที่ผ่านมาโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกรัฐบาล และ ทำชื่อเสียงให้ประเทศโดยได้รับคำชมเชยจากองค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติให้เป็นโครงการตัวอย่างของระบบประกันสุขภาพทั่วโลก
การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นช่วงสำคัญที่ต้องวางระบบเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และโรคไม่ติดต่อที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือต้องวางระบบป้องกัน-รักษาพยาบาลให้เพียงพอโดยไม่เป็นภาระของประเทศมากจนทำให้ระบบงบประมาณล่มสลายเช่นในญี่ปุ่นและในอีกหลายประเทศ งบขาขึ้นที่สปสช.เสนอเข้าครม.มีโครงสร้างดังนี้
1.งบปรกติที่ขอเป็นประจำทุกปี
1.1 ค่าเหมาจ่ายรายหัว เป็นเสมือนเงินประกันถัวเฉลี่ยสำหรับทุกคนจำนวน 49.1 ล้านคนในโครงการ โดยปี 2557 ขอไว้ 2,956 บาท/คน เพิ่มขึ้นจาก 2,756 บาท/คน ของปี 2556 จำนวน 200 บาท/คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3% ที่ดูเหมือนเพิ่มขึ้นมากขึ้นค่อนข้างมากเพราะมีการขอเพิ่มพิเศษอีก 45 บาท/คน เพื่อใช้จ่ายในการขยายเป้าหมายงานทางด้านการส่งเสริมและป้องกันโดยเฉพาะกับสตรีและเด็ก เรื่องนี้สำคัญหากมีงบประมาณก็ควรทำเพราะว่าหากการป้องกันไม่ดีจะทำให้อัตราการเจ็บป่วยสูงและรายจ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
1.2 งบบริการเฉพาะโรค แบ่งเป็น 3 โรคสำคัญ
1.HIV 2,951 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 326 ล้านบาทเพราะสามารถเจรจาลดค่ายาได้ 708 ล้านบาท
2.ไตวายเรื้อรัง 5234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 875 ล้านบาทเพราะมีผู้รับบริการล้างไตและทดแทนไตมากขึ้น
3.เบาหวาน/ความดันสูง 935 ล้านบาท เพิ่มให้ครอบคลุมผู้ป่วยให้มากขึ้น โดยต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นยังขอเพิ่มการดูแลอีกจิตเวชเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ติดสารเสพติด จำนวน 68, 148, และ 179 ล้านบาทตามลำดับ รวม 395 ล้านบาท งบเหล่านี้เคยขอเมื่อปีก่อน แต่ สำนักงบประมาณเห็นว่าซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่จัดให้หน่วยงานอื่นๆ
2.งบรายการใหม่
2.1 งบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลขนาดเล็ก
เป็นความพยายามของ สปสช. ที่จะให้ทุกฝ่ายได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข-สปสช.-สำนักงบประมาณ ยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า ระบบของเรานั้นมีโรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งมีต้นทุนสูงเพราะอยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล และมีประชากรน้อย พื้นที่เกาะ พื้นที่เสี่ยงภัยแต่จำเป็นต้องมีสถานพยาบาล แต่จำเป็นต้องมีสถานพยาบาลเหล่านั้นเพื่อบริการประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเงินเพิ่มจากงบปรกติเพื่อให้สถานพยาบาลเหล่านั้นอยู่ได้ โดยระบบเดิมที่จัดเงินพิเศษให้บ้างหรือเกลี่ยเงินกันจากโรงพยาบาลอื่นๆมาให้เป็นการแก้ไขที่ไม่เป็นระบบและไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง สำนักงบประมาณเห็นด้วยในหลักการแต่ขอให้ชัดเจนว่าที่ขาดทุนนั้นไม่ใช่การบริหารที่ขาดประสิทธิภาพ สปสช. คำนวนจากข้อมูลเดิมพบว่าเงินที่ขาด(หักลบด้วยส่วนที่เกินของโรงพยาบาลที่มีกำไร) เป็นเงินประมาณ 2,125 ล้านบาท
2.2 งบเงินเดือนของสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
แต่ละปีงบประมาณที่ สปสช. ได้รับ จะมีเงินเดือนของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่กับสถานพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้วเป็นสัดส่วน 60% ของเงินเดือนบุคลากรที่อยู่ในส่วนของการให้บริการ โดยงบนี้จะรวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวในตอนขาขึ้นโดยมีเจตนาต้องการแสดงถึงภาระต้นทุนค่าแรงของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่ในทางปฏิบัติตอนขาลง งบก้อนนี้ไม่ได้มาเป็นตัวเงินที่ สปสช โดยงบส่วนนี้จะเป็นงบตามการถือจ่ายเงินเดือนโดยปรกติตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน งบประมาณส่วนนี้ในปี 2557 เป็นเงิน 34,763 ล้านบาท (รวมขึ้นเงินเดือน 6 % ตามประมาณการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ)
1) การเสนอเพิ่มงบเงินเดือนของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจาก 60% เป็น 100%
ในงบประมาณปี 2557 ทางคณะกรรมการฯและกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ ตกลงกันว่าเพื่อให้ภาระต้นทุนค่าแรงทั้งหมดของหน่วยบริการในระบบได้แสดงให้ชัดตั้งแต่ตอนทำงบประมาณขาขึ้น จึงได้จัดวางงบเงินดือนของสถานพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ครบ 100% โดยเพิ่มอีก 40% เป็นวงเงินงบประมาณในปี 2557 ประมาณ 29,187 ล้านบาท (เงินเดือนปรกติรวมประมาณการขึ้นเงินเดือน 6% เช่นเดียวกัน) มาตั้งที่ สปสช. และจะดำเนินการเช่นเดียวกันคือ งบดังกล่าวจะไม่ได้มาที่ สปสช. แต่เป็นงบประมาณเงินเดือนตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนตามปรกติในตอนขาลงและเข้าสู่ระบบการจ่ายเงินเดือนของกระทรวงสาธารณสุขตามปรกติต่อไป
อนึ่งการคำนวณเหมาจ่าย บาทต่อหัวที่จะใช้ในการจัดสรรให้กับหน่วยบริการทุกแห่งยังคงใช้ตัวเลขเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะเงินเดือน 60% ของเงินเดือนหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนอีก 40% เป็นการผ่านทางตัวเลข ไม่มีผลทางการคำนวณเหมาจ่ายต่อหัว แต่อย่างใด
2) การเสนอเพิ่มงบเงินเดือนของหน่วยบริการของกรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุข
คณะกรรมการฯและ กระทรวงสาธารณสุขได้ตกลงกันว่าเพื่อให้ภาระต้นทุนค่าแรงของหน่วยบริการในสังกัดกรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้ปรากฏในการทำงบประมาณขาขึ้นของ สปสช จึงตกลงที่จะตั้งเงินเดือนบุคลากรของกรมต่างๆ 25% ที่ สปสช เพราะในทางปฏิบัติกรมต่างๆ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานสนับสนุนการทำงานบริการประชาชนของสถานพยาบาลของกระทรวงในพื้นที่ทั่วประเทศ นั่นคือ แยกงบเงินเดือนสำหรับบุคคลากรที่ทำงานด้านบริการในพื้นที่มาไว้ที่งบประมาณ สปสช. เพราะเป็นค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข ในขณะเดียวกันการทำงานเชิงนโยบายหรืองานวิชาการหรืองานกำกับดูแลของกรม ก็ยังตั้งเอาไว้ที่กรมเหมือนเดิม
ในปีงบประมาณ 2557 จึงเป็นการเริ่มต้นด้วยอัตราร้อยละ 25 โดยในปีต่อๆไปจะได้ทำตัวเลขรายละเอียดให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบต่อรายได้จากเงินเดือนของข้าราชการในแต่ละกรมหรือสถานพยาบาลแต่อย่างใด เพราะงบก้อนนี้ เป็นการแสดงถึงตัวเลขภาระต้นทุนค่าแรงของหน่วยบริการต่อระบบในตอนทำงบประมาณขาขึ้นเท่านั้น แต่ในตอนขาลงงบดังกล่าวยังเป็นงบเงินเดือนที่กรมต่างๆจ่ายเป็นเงินเดือนตามปรกติให้กับบุคลากรและงบก้อนนี้ไม่มีผลต่อการคำนวณเหมาจ่ายต่อหัวเช่นกัน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับครั้งนี้ก็คือ ระบบข้อมูลการเงินเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งทั้งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สำนักงบประมาณ รัฐบาลและประชาชน ก็จะได้เห็นตัวเลขงบรวมของการให้บริการสาธารณสุขทั้งประเทศตัวเดียวกัน พร้อมกัน
2.3 เพิ่มงบประมาณ 3,000 ล้านบาทชดเชยค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม (ประกาศกระทรวงฯที่ 4,6,7) ที่แต่เดิมใช้เงินบำรุง
ต้องขออธิบายท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยนี้ดังนี้ เงินค่าตอบแทนส่วนเพิ่มเป็นเงินเพิ่มจากเงินเดือนในอัตราคงที่เป็นประจำทุกเดือนให้กับทุกคน โดยข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่กันดาร ซึ่งพื้นที่กันดารที่ใช้ในปัจจุบันใช้ประกาศของปี 2552 และได้มีการออกข้อบังคับฉบับที่ 6 ตามมาในปี 2552 โดยขยายการให้ไปถึง พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ และฉบับที่ 7 ขยายไปถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในปี 2552
ข้อสำคัญคือเงินเพิ่มนี้ไม่เคยได้รับการยอมรับให้บรรจุในงบประมาณอย่างถาวรเพราะเป็นการออกระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ขอเป็นงบประมาณผ่าน ครม. เพื่อให้สำนักงบประมาณตั้งงบประจำปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องใช้เงินบำรุงที่ได้รับจากค่าบริการหรือประชาชนบริจาคให้โรงพยาบาล มาเป็นค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม และหากปีใดไม่พอก็ต้องของบประมาณเป็นครั้งๆไป
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ได้ตกลงที่จะเริ่มแก้ไขในเรื่องนี้ กล่าวคือทุกฝ่ายเห็นว่าเมื่อจำเป็นมีเงินส่วนเพิ่มให้กับเจ้าหน้าที่ทำภารกิจให้กับประชาชน ก็ควรเป็นค่าใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี โดย ให้ สปสช. ขอเงินงบประมาณในส่วนนี้เป็นการเริ่มต้นจำนวน 3,000 ล้านบาท (ผ่านการเจรจาเบื้องต้นกับสำนักงบประมาณ) เรื่องนี้มีข้อดี คือ เงิน 3,000 ล้านบาทเป็นงบประมาณถาวรทุกปีทำให้ประหยัดเงินบำรุง และเป็นที่ทราบกันดีว่าเงินบำรุงกำลังจะไม่มีพอจ่าย เรื่องนี้เป็นงานที่รัฐมนตรี ประดิษฐ สินธวณรงค์ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และรองปลัดฯ กระทรวงสาธารณสุข สุพรรณ ศรีธรรมมาได้ช่วยเจรจาจนมีทางออก
ในทางปฏิบัติเมื่อเงิน 3,000 ล้านบาทมาที่ สปสช. ก็จะโอนกลับไปให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในรูปของเงินบำรุง และใช้ระเบียบเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุขในการจ่ายให้กับบุคลากร สปสช จึงทำหน้าที่เป็นจุดผ่านของงบประมาณเพราะถือว่างบประมาณส่วนนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุขในการบริการประชาชนเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณเห็นตรงกันก็คือ ถึงเวลาที่จะปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ตรงกับข้อเท็จจริงและเป็นแรงจูงใจให้ผู้ทำงานมากขึ้น ในหลักการ 2 ประเด็น
1.หากอยู่ในเขตทุรกันดารก็ให้ได้เงินค่าตอบแทนประจำไปได้ตามปรกติ เพราะถือว่าเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสและต้องทำงานรับผิดชอบตลอดเวลา และจะได้เพิ่มขึ้นจากการประเมินว่าประสิทธิภาพการทำงานเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด เพราะทุกโรงพยาบาลชุมชนละได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ของงบประมาณบุคคลากรไปเป็นแรงจูงใจตามระบบการจ่ายตามงานที่ทำ (Pay by Performance)
2.หากไม่อยู่ในเขตทุรกันดาร คืออยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง หรือพื้นที่ปรกติ ก็จะลดค่าตอบแทนส่วนเพิ่มที่จ่ายทุกเดือนลงบ้าง แต่พนักงานแต่ละคนจะได้เงินชดเชยส่วนที่ลดลงจากระบบการจ่ายตามงานที่ทำ (Pay by Performance) เมื่อทำงานตามเกินเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำ และได้เพิ่มขึ้นหากทำงานได้เกินเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำนั้น ด้วยวิธีนี้เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทุ่มเททำงานมากกว่าคนอื่นและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสถานพยาบาล ส่วนเพิ่มนี้จะมาจากการที่แต่ละสถานพยาบาลจะวงเงินเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ของค่าแรงทั้งหมดเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนตามระบบการจ่ายตามงานที่ทำ (Pay by Performance)
โดยภาพรวมแล้ว เป็นการปรับค่าตอบแทนส่วนเพิ่มให้สะท้อนผลงานในขณะที่เข้าใจข้อเท็จจริงเรื่องความยากลำบากของการทำงานในเขตทุรกันดาร อย่างไรก็ตามการปรับปรุงครั้งนี้มีข้อหลักเกณฑ์ในกำหนดของเขตทุรกันดารใหม่ โดยใช้ความยากลำบากในการเดินทาง ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ และความเจริญของพื้นที่มาเป็นหลักเกณฑ์ เท่าที่ทราบเรื่องนี้ได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นและปรับเปลี่ยนเงินไขต่างมาเป็นเวลาพอสมควรและยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเกณฑ์ทุรกันดารและอัตราการจ่ายค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม
สปสช. ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดระเบียบค่าตอบแทนส่วนเพิ่มซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข แต่เห็นด้วยว่าการนำหลักการเพิ่มประสิทธิภาพมาใช้ในการกำหนดค่าตอบแทนส่วนเพิ่มเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณสุขดีขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามแม้แนวคิดจะเป็นที่ยอมรับมานานพอสมควรแต่ทุกการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจและร่วมกันทำระบบระเบียบให้เป็นยอมรับกับคนส่วนใหญ่
ข้อสรุป
งบประมาณขาขึ้นในปีนี้เสนอไปทั้งสิ้น 183,793 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ดูเหมือนเพิ่มขึ้นมาก แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะกับภารกิจเท่าเดิมเมื่อปีก่อนเป็นงบเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7 ส่วนที่เพิ่มขึ้นขึ้นในปีนี้ สะท้อนการปรับระบบงบประมาณของระบบสาธารณสุขทั้งกระทรวงและ สปสช. โดยมีงบประมาณรายการใหม่ ดังนี้
1.งบเพื่อขยายเป้าหมายการส่งเสริมและป้องกัน 45 บาท/คน
2.งบบริการเฉพาะโรคเพื่อเพิ่มการดูแลอีกจิตเวชเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ติดสารเสพติด รวม 395 ล้านบาท
3.งบบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการที่มีขนาดเล็ก อยู่ในเขตที่มีประชากรน้อย ขาดทุนแต่เป็นประโยชน์ในการให้บริการ รวม 2125 ล้านบาท
4.งบค่าแรงเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการโอนมาของบโดย สปสช.ในตอนขาขึ้น ส่วนในตอนขาลง งบค่าแรงยังคงเป็นงบตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนของกระทรวงสาธารณสุขในตอนขาลง เพื่อใช้จ่ายตามปรกติรวม 32,953 ล้านบาทแบ่งเป็น
- งบเงินเดือนของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ร้อยละ 40 ที่เหลือ) จำนวน 29,187 ล้านบาท
- งบเงินเดือนของหน่วยบริการสังกัดกรมที่ไปทำงานบริการในพื้นที่ต่างๆ เป็นเงิน 766 ล้านบาท
- ค่าตอบแทนส่วนเพิ่มตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับ 4-6-7 จำนวน 3,000 ล้านบาท
ความพยายามในการจัดระบบงบประมาณของ สปสช. ให้ถูกต้องโดยรวบรวมรายจ่ายต่างๆมาไว้ที่เดียวกันจึงทำให้เห็นว่าภาพรวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการโครงการหลักประกันสุขภาพของไทยในปี 2557 (ตามข้อเสนอของกรรมการหลักสุขภาพแห่งชาติ) จะอยู่ที่ประมาณ 183,793 ล้านบาท
เป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของรายได้ประชาชาติ (12,600,000 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2557 หมายความว่าคนทั้งประเทศหารายได้มาได้ 100 บาทจะนำ 1.5 บาทมาใช้ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพ
เป็นประมาณร้อยละ 7.3 ของงบประมาณรายจ่ายปี 2557 (2,525,000 ล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 8.1 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ขาดดุล 250,000 ล้านบาท) คือเก็บภาษีได้ 100 บาทจะนำ 8 บาทมาใช้จ่ายให้กับ 49 ล้านคนตามโครงการหลักประกันสุขภาพ
งบประมาณที่แสดงในบทความนี้เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องผ่านการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีและเข้าสู่กระบวนการงบประมาณตามปรกติ จึงยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ
ในอนาคตที่ เบบี้บูมกำลังจะทำให้ วัฏฏะสังขาร แก่-เจ็บ-ตาย มีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นภารกิจหนักของระบบสาธารณสุข และของรัฐบาล โดยส่วนตัวเห็นว่าการปรับฐานงบประมาณให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญทำให้การวางแผนรัดกุมยิ่งขึ้น ไม่เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต
ผู้เขียน :
1.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง, กรรมการหลักประกันสุขภาพ
2.นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
3.นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
- 355 views