อดีตปลัดกระทรวงแนะ "สธ.-สปสช." ยอมรับโมเดลการบริหารงบประมาณระบบสุขภาพจากคนกลาง ชี้ ชุด คณิศ ถือว่าเป็นกลางศึกษาข้อมูลครบถ้วนแล้ว เพื่อให้ปัญหาขัดแย้งมีข้อยุติ แต่ส่วนตัว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบริหารงบ แจงถ้ายังจัดการเหมือนเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนที่เกิดขึ้น ยันไม่มีเหตุผลเพียงพอปลดปลัดสธ.เหตุขัดแย้งเรื่องแนวคิดต่างกันเท่านั้น เสนอยกเรื่องที่เห็นร่วมกัน เช่น พัฒนาการล่าช้าเด็กไทย มาเป็นวาระหลักบริหารร่วม รมว.-ปลัด
นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีต รมช.สาธารณสุข (สธ.) และอดีตปลัดกระทรวง สธ. เปิดเผยว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในขณะนี้ เสนอว่าทั้ง 2 ฝ่ายควรยอมรับข้อเสนอการบริหารงบประมาณระบบสาธารณสุขจากองค์กรหรือหน่วยงานกลาง เพื่อให้ปัญหายุติได้แล้ว โดยมองว่าคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ชุดที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน เป็นหน่วยงานที่มีการศึกษาข้อมูลครบถ้วนและมีความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้ง 2 ฝ่าย จึงควรยอมรับข้อเสนอของอนุกรรมการฯ เป็นแนวทางในการบริหารงบในระบบสุขภาพ ซึ่งแม้อาจจะไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับเพื่อให้ปัญหาจบ
"สธ.มองว่าถ้าจ่ายเงินลงไปถึงระดับอำเภอ โรงพยาบาลที่ขาดทุนก็จะขาดทุนอยู่อย่างนี้ ก็สมควรโอนเงินไปที่เขตซะ ส่วนสปสช.ก็มองว่าถ้าโอนเงินไปที่เขตก็อาจจะมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่าย สธ.ก็บอกว่าถ้าโอนเงินลงไปอำเภอแล้วจะเกลี่ยเงินให้โรงพยาบาลที่ขาดทุนได้ยังไง มันก็โต้กันไปโต้กันมาแบบนี้ ซึ่งผมมองว่าถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับข้อเสนอจาก body กลาง มันก็น่าจะจบ ไม่เห็นจะยากอะไร ตัดสินใจเถอะครับ ไม่งั้นก็ต้องไปหา Body ใหม่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ ซึ่งก็จะเป็นปัญหาอีกว่าฝ่ายหนึ่งเสนอหน่วยงานนี้ อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับ แย้งกันไปมาแบบนี้อีก"นพ.วัลลภ กล่าว
นพ.วัลลภ กล่าวด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารงบประมาณระบบสุขภาพเกิดขึ้น เพราะหากจัดการแบบเดิมก็เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ประเด็นการปลดหรือไม่ปลด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.คนปัจจุบันนั้น นพ.วัลลภ มองว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปลด โดยมองว่าเป็นเรื่องแนวคิดการบริหารที่ต่างกันระหว่าง นพ.ณรงค์ กับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นคนดี เพียงแต่แนวคิดบางอย่างที่อาจต่างกัน ทำให้การบริหารงานไม่สะดวก
"ถ้าสมมติว่ามีหลักฐานชัดเจน เช่นว่าปลัดณรงค์โกง แบบนี้ก็ควรโยกย้ายเพื่อเปิดให้มีการตรวจสอบ แต่ถ้าปลดเพราะการบริหารงานไม่ตรงกัน มันไม่มีเหตุผลเพียงพอ" นพ.วัลลภ กล่าว
นพ.วัลลภ กล่าวอีกว่า ยังมีหนทางที่เป็นทางออกในเรื่องนี้ได้ โดยมองไปที่เรื่องเชิงบวก ที่ทั้ง นพ.ณรงค์ และ ศ.นพ.รัชตะ เห็นตรงกัน เช่น ประเด็นปัญหาเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น ซึ่งทั้่ง 2 คนนี้ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่สมควรต้องแก้ไข ก็อาจยกเป็นวาระหลักของสธ. มีการตั้งเป้าการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายความร่วมมือไปด้านอื่นๆต่อไป ฉะนั้นทั้งคู่ต้องหันมาคุยเชิงบวกในประเด็นที่ทำงานร่วมกันได้ก่อน
ด้าน นพ.ภีศเดช สัมมนานันท์ แกนนำกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ปัญหาของ สธ. และ สปสช. ที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลายโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุน สธ.จึงมีแนวคิดที่จะเกลี่ยงบประมาณเพื่อให้โรงพยาบาลที่มีกำไรมาช่วยโรงพยาบาลที่ขาดทุน และการบริหารแบบเขตก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการได้บางอย่าง ขณะที่ท่าทีของสปสช.ก็ใช้ระบบการเงินมาควบคุมการปฏิบัติงานของสธ.มากเกินไป
"ปัญหาตอนนี้คือมีโรงพยาบาลที่ขาดทุนจริง และโรงพยาบาลที่ได้กำไรก็มีจริง ดังนั้นทางออกควรมีการวิเคราะห์ว่าโรงพยาบาลที่ขาดทุนเกิดจากปัญหาอะไร โรงพยาบาลที่ได้กำไรเยอะเกิดจากอะไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการ แต่เป็นเรื่องรายรับไม่พอกับรายจ่าย บุคคลากรในโรงพยาบาลบางส่วนอาจรู้สึกว่า สปสช.จ่ายเงินมาไม่ครบ ขณะที่ สปสช.ก็บอกว่าจ่ายครบหมดแล้ว ถ้าเป็นปัญหาในทางบัญชีแบบนี้ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีมาวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร เงินยังค้างจ่ายจริงหรือไม่จริง"นพ.ภีศเดช กล่าว
- 5 views