สธ.มอบรางวัลปริ๊นซ์เซส เฮลท์ อวอร์ด 3 รางวัลแก่ นพ.อมร นนทสุต, นพ.วัลลภ ไทยเหนือ และนายสุคนธ์ เจียสกุล ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลปริ๊นซ์เซส เฮลท์ อวอร์ด(Princess Health Awards) จำนวน 3 รางวัล ในการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 “ชุมชนสุขภาพดี: วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” “Healthy Community : A Key to Success toward Sustainable Development Goals (SDGs)” พร้อมมอบโล่รางวัลผู้ชนะการนำเสนอผลงานวิชาการและการจัดการความรู้ รางวัลบุคคล และองค์กรต้นแบบด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมจำนวน178รางวัล
นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังก้าวเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ในส่วนเป้าหมายประชาชนสุขภาพดี ได้กำหนดไว้ 2 ประเด็นคือ อีก 20 ปีข้างหน้า คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี และมีอายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี ซึ่งกรมอนามัยจะมีบทบาทสำคัญในเรื่อง การยืดอายุการมีสุขภาพดี ให้กับคนไทย ด้วยองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ตลอดจนการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
สำหรับรางวัลปริ๊นซ์เซส เฮลท์ อวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2559 คัดเลือกจากผู้มีผลงานดีเด่น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ มีทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่
1.นพ.อมร นนทสุต มีผลงานเด่น อาทิ จัดทำโครงการควบคุมโรคคอพอกด้วยเกลืออนามัย และใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์หลักและแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ฉบับปฏิบัติการ เพื่อค้นหาและกำหนดค่ากลางของโครงการสุขภาพต่างๆ
2.นพ.วัลลภ ไทยเหนือ มีผลงานเด่น เช่น สามารถลดภาวะทุพโภชนาการในกลุ่มแม่และเด็กจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 8 แก้ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ ลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกวิจัยการใช้ยาต้านไวรัส จนได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาติ
และ 3.นายสุคนธ์ เจียสกุล มีผลงานเด่น เช่น เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2549-2553 เป็นคณะอนุกรรมการการประสานการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน : เมืองน่าอยู่ จัดทำโครงการแผนแม่บทการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ทางวิชาการ
การประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ สานสัมพันธ์ และสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ระหว่างภาคีเครือข่ายผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ มีการนำเสนอผลงานวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม และการจัดการความรู้ ด้วยวาจา 30 เรื่อง และโปสเตอร์ 111 เรื่อง ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าร่วมประชุม เป็นการสร้างกระแสให้สังคมตระหนักและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาระบบบริการประชาชน ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- 68 views