น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้แทนศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบเขตปริมณฑล เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ 24 ล้านคน ในจำนวนนี้พบว่า มีผู้สูงอายุระหว่าง 50-70 ปี ต้องรับงานไปทำที่บ้าน เช่น เย็บเสื้อผ้า ประกอบปลั๊กไฟ โดยมีรายได้อยู่ที่เดือนละ 1,600-4,500 บาท ซึ่งผู้สูงอายุบางคนต้องทำงานหนักเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง สายตาไม่ดี จึงอยากให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือโดยหารือกับนายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านให้มากขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อจะได้มีรายได้เพียงพอและไม่ต้องทำงานหนักจนเสียสุขภาพ
น.ส.อรุณีกล่าวอีกว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรจัดส่งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ลงพื้นที่ไปเยี่ยมและพูดคุยกับผู้สูงอายุที่รับงานไปทำที่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่บ้านให้เหมาะสม หากเจ็บป่วยก็จะได้เข้ารับการรักษาทันที ขณะเดียวกัน อยากให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลส่งเสริมผู้สูงอายุที่รับงานไปทำที่บ้านในเรื่องของการออมเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 ได้ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย เงินค่าทำศพ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ควรเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุเสียโอกาสในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน กอช.เพราะหากเปิดรับสมัครล่าช้าออกไป จะยิ่งทำให้สมาชิกเสียประโยชน์ เนื่องจากระยะเวลาและจำนวนเงินออมสะสมก็จะลดลงตามไปด้วย
"ถึงแม้ผู้สูงอายุที่รับงานไปทำที่บ้านจะมีลูกหลานเลี้ยงดู แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงต้องนั่งทำงานทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึง 3-4 ทุ่ม โดยงานที่ทำได้ค่าจ้างเป็นรายชิ้น เช่น บางคนเย็บผ้าได้ชิ้นละ 3.50 บาท ทำให้ต้องเย็บถึง 100 ชิ้น จึงจะมีรายได้วันละ 350 บาท ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพ" น.ส.อรุณีกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view