เครือข่ายผู้บริโภค แรงงาน องค์กรผู้หญิงและเด็ก วอน สนช.ผ่าน กม.ควบคุมส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พร้อมโชว์หลักฐานการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ในไทย พบแจกผลิตภัณฑ์นมให้แม่หลังคลอดในโรงพยาบาล ติดต่อตรงถึงแม่ ขายพ่วงของแถม อัดฉีดสถานบริการสุขภาพ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่รัฐสภา เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานหญิง เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา เครือข่ายเด็ก เยาวชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิหัวใจอาสา เดินทางมาที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.....โดยมี นายพีระศักดิ์ พอจิตต์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับมอบ
และยังได้แสดงตัวอย่างเอกสารการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ หรือ Code จากการสื่อสารการตลาดของธุรกิจนมผสมในประเทศไทยที่เข้าถึงแม่เด็ก ทั้งตัวอย่างนมผงเด็กที่แม่ได้รับจากแจกฟรีหลังคลอดในโรงพยาบาล การติดต่อตรงถึงแม่เพื่อแนะนำผลิตนมผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ออนไลน์ และตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น
นางประนอม เชียงอั๋ง รองประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจตลาดนมผสมได้แทรกซึมและเข้าถึงแม่อย่างแยบยล ลูกสาวของตนไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.นนทบุรี เมื่อออกจากโรงพยาบาลได้รับชุดของขวัญที่ประกอบด้วยผ้าอ้อมสำเร็จรูป และนมผง พร้อมกับมีแบบสอบถามถามแม่ว่า หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะตัดสินใจเลือกนมผงยี่ห้อใด เช่นเดียวกับลูกจ้างในโรงงานที่เพิ่งลาคลอด พยาบาลก็ให้เด็กแรกเกิดรับประทานนมขวดทันที ซึ่งแม่ทั่วไปอาจรู้ไม่เท่าทันและเปลี่ยนใจเลือกใช้นมผงแทนนมแม่ แทนที่จะให้ความรู้ถึงประโยชน์ของนมแม่เป็นเรื่องแรก
การมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องสุดโต่งเพราะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานและบุคคลที่น่าเชื่อถือโดยไม่มีการตลาดแอบแฝงเบื้องหลัง โดยเครือข่ายจึงมีข้อเสนอต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังต่อไปนี้
1.ขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก และอาหารสำหรับเด็ก เพื่อคุ้มครองแม่และเด็กที่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์นมผงจากการส่งเสริมการตลาดที่ขาดจริยธรรม และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการแทรกแซงโดยไม่จำเป็นของบริษัทนมผง
และ 2.ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการเพิ่มจำนวนวันลาคลอดจากเดิม 90 วันเป็น 120 วันโดยให้ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสากล และเป็นประโยชน์ต่อเด็กทารก และครอบครัว
ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต แกนนำเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมขอสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพราะที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า แม้จะมีข้อแนะนำห้ามโฆษณานมผงสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดสำหรับเด็กเล็กของธุรกิจตลาดนมผงในไทยได้ โดยพบการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ด้วยการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ขาดจริยธรรม เช่น การโฆษณาอวดอ้างจนเกินจริงของนมผงสำหรับเด็กเล็กที่มีอายุมากกว่า1ปีขึ้นไปที่พยายามชี้ให้แม่หรือคนรอบข้างเชื่อว่าสารอาหารที่เติมลงไปนั้นจะทำให้ลูกสมองดี ทำให้แม่เข้าใจผิดหลงคิดว่านมผงสำรับทารกมีสารอาหารใกล้เคียงกับนมแม่
“มีความพยายามของธุรกิจนมผสมในการส่งเสริมการตลาดที่เข้าถึงแม่ เช่น การติดต่อแม่โดยตรงทั้งทางโทรศัพท์หรือจุดขาย เพื่อโน้มน้าวให้แม่ให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องให้ลูกกินนมผง โดยใช้คำพูดที่ทำให้แม่ขาดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป เช่น คุณแม่ควรเสริมนมผงเพราะเด็กตัวเล็ก หรือน้ำนมของคุณแม่น้อยอาจไม่เพียงพอ การลดราคาสินค้าและให้ของแถม รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดในโรงพยาบาลที่รุกเข้าถึงตัวแม่และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการสนับสนุนตัวอย่างนมแก่คุณแม่หลังคลอด การให้การสนับสนุนทางการวิจัย การจัดประชุม หรืออุปกรณ์แก่สถานบริการสุขภาพและบุคลากรสุขภาพ ทำให้แม่ล้มเลิกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยซื้อนมผงมาเสริม จึงขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และเชื่อว่าการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดจะส่งผลต่อราคานมผงที่ถูกลงสำหรับแม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้อีกด้วย” นางสาวอรุณี กล่าว
- 374 views